นางจุไรรัตน์ ธนยั่งยืน
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนผดุงนารี
ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 26
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้เป็นการศึกษารูปแบบตัวแทนความคิดวิชาฟิสิกส์ เรื่อง ความร้อน ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนผดุงนารี จังหวัดมหาสารคาม กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย เป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนผดุงนารี จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 52 คน โดยใช้แบบสอบถามปลายเปิดเรื่อง ความร้อน
ผลการวิจัยพบว่า นักเรียนมีรูปแบบตัวแทนความคิด เกี่ยวกับมโนมติ ต่างๆ ดังนี้
1. แหล่งกำเนิดความร้อน นักเรียนบางส่วนบอกได้ว่าความร้อนเกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์และเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่สามารถบอกสาเหตุของการเกิดความร้อนได้อย่างหลากหลาย อย่างน้อยคนละ 3 อย่าง เช่น ความร้อนเกิดจากดวงอาทิตย์ ความร้อนเกิดจากการเสียดสีของวัตถุ เกิดจากพลังงานในของเหลวร้อนใต้พิภพ เป็นต้น
2. ผลของความร้อน นักเรียนส่วนใหญ่สามารถบอกได้ว่า ความร้อนว่าทำให้เกิดความอบอุ่นแก่ร่างกาย ช่วยในการเผาไหม้ ช่วยในการหุงต้ม ช่วยในการตากเสื้อผ้า เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผลต่อ อารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์ เช่น ทำให้หงุดหงิด โกรธง่าย มีเหงื่อ ต้องอาบน้ำบ่อย นอกจากนี้ยังพบว่านักเรียนจำนวนมากบอกว่า จะทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
3. การบอกระดับความร้อน นักเรียนส่วนใหญ่บอกว่า ทำได้โดยการสัมผัส แต่มีนักเรียนบางส่วนบอกว่า สามารถทำได้โดยใช้เทอร์โมมิเตอร์วัด และมีนักเรียนบางคนสามารถบอกได้ทั้ง 2 วิธี คือ การใช้มือสัมผัสและการใช้เทอร์โมมิเตอร์ ส่วนกรณีที่เป็นสารชนิดเดียวกัน มีปริมาตรต่างกัน และมีอุณหภูมิเท่ากัน จะมีความร้อนเท่ากันหรือไม่ คำตอบของนักเรียนแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ มีความร้อนเท่ากัน เนื่องจากมีอุณหภูมิเท่ากัน และอุณหภูมิไม่เท่ากัน เพราะ มีปริมาตรของน้ำต่างกัน
4. ความร้อนแฝง นักเรียนมีแนวคำตอบจำแนกได้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่บอกว่า น้ำแข็งที่อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส ไม่มีความร้อน ซึ่งนักเรียนกลุ่มนี้มีแนวคิดที่ผิดไปจากแนวความคิดของนักวิทยาศาสตร์และกลุ่มที่บอกว่า น้ำแข็งที่อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส มีความร้อนแฝงอยู่ภายในระบบ
5. ความจุความร้อนจำเพาะของสาร นักเรียนส่วนใหญ่มีความคิดว่า ถ้านำเหล็กและน้ำที่มีมวลเท่ากันไปวางตากแดดในเวลาเท่ากัน เหล็กจะมีอุณหภูมิสูงกว่าน้ำ เนื่องจากเหล็กนำความร้อนได้ดีกว่าน้ำ และเหล็กมีสถานะเป็นของแข็ง มีนักเรียนบางส่วนบอกว่าทั้งเหล็กและความร้อนมีอุณหภูมิสูงขึ้น แต่ไม่ได้ระบุว่าวัตถุใดจะมีอุณหภูมิมากกว่ากัน
6. การถ่ายเทความร้อน นักเรียนส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่า ความร้อนที่ได้รับในขณะที่ยกหม้อแกงที่เปิดฝาและกำลังเดือดลงจากเตาไฟ คือ ความร้อนจากไอน้ำ ความร้อนจากการสัมผัสหูหม้อ และความร้อนที่เกิดจากเตาไฟ มีนักเรียนส่วนใหญ่ตอบทั้งสามอย่าง นักเรียนบางส่วนตอบเพียงสองอย่าง และมีนักเรียนส่วนน้อยที่ตอบเพียงอย่างเดียวคือ ไอน้ำ แต่ไม่มีนักเรียนคนใดเลยที่ใช้ศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ได้แก่ การพาความร้อน การนำความร้อนและการแผ่รังสีความร้อน ในการอธิบาย