หัวข้อวิจัย รายงานการวิจัยเพื่อพัฒนาเอกสารประกอบการเรียนการสอนนาฏศิลป์พื้นเมือง
สร้างสรรค์ ชุด ระบำดอกนนทรี กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ สาระนาฏศิลป์
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนร่มเกล้าบ้านชมเจริญ อำเภอปากชม จังหวัดเลย
ชื่อผู้วิจัย หทัยชนก ศรีตะบุตร โรงเรียนร่มเกล้าบ้านชมเจริญ
ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบริบทของชุมชนบ้านชมเจริญ เพื่อการประดิษฐ์ท่ารำ ชุด ระบำดอกนนทรี จากประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านชมเจริญ ตำบลชมเจริญ อำเภอปากชม จังหวัดเลย และเพื่อนำชุดระบำดอกนนทรี ไปใช้ในการจัดทำเอกสารประกอบการเรียนการสอนใน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านร่มเกล้าชมเจริญ และส่งเสริมด้านประเพณีวัฒนธรรมและเศรษฐกิจโดยการเผยแพร่ในงานเทศกาลประเพณีต่าง ๆ ของจังหวัดเลย โดยทำการศึกษาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 ถึงเดือนตุลาคม 2560 มีวิธีการดำเนินการวิจัยโดยทำการศึกษาจากเอกสารที่เกี่ยวข้องกับประวัติ ความเป็นมาของหมู่บ้านชมเจริญ การปลูกต้นนนทรีของในหลวงรัชกาลที่ 9 และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการคิดประดิษฐ์ การแสดงนาฏศิลป์พื้นเมือง ท่าฟ้อนรำทั่ว ๆ แม่ท่าฟ้อนอีสาน ในภาคตะวันออก เฉียงเหนือและการศึกษาภาคสนามเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เจาะลึก (Indepth interview) และเชิงปริมาณ กลุ่มเป้าหมายคือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 25 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 10 แผน เอกสารประกอบการเรียนการสอน ชุด ระบำดอกนนทรี จำนวน 10 หน่วย แบบทดสอบก่อนเรียนหลังเรียน จำนวน 30 ข้อ และแบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยเอกสารประกอบการเรียนการสอน ชุด ระบำดอกนนทรี เป็นแบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 10 ชุด ๆ ละ 15 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการทดสอบค่าที (t test Dependent)
วัตถุประสงค์ของการศึกษาค้นคว้า
1. เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของบ้านชมเจริญ และการมาเยือนของในหลวงรัชกาลที่ 9 และทรงปลูกต้นนนทรีไว้เป็นอนุสรณ์เพื่อนำไปสร้างเป็นท่ารำ เรื่อง ชุด ระบำดอกนนทรี
2. เพื่อสร้างและพัฒนาเอกสารประกอบการเรียนการสอน เรื่อง ชุด ระบำดอกนนทรีกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ สาระนาฏศิลป์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนร่มเกล้าบ้านชมเจริญ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเลย เขต 1 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80
3. เพื่อเปรียบเทียบแบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน ของนักเรียน ที่เรียนโดยใช้เอกสารประกอบการเรียนการสอน เรื่อง ชุด ระบำดอกนนทรี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียน ร่มเกล้าบ้านชมเจริญ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเลย เขต 1
4. เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้เอกสารประกอบ การเรียนการสอน เรื่อง ชุด ระบำดอกนนทรี กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ สาระนาฏศิลป์ ชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 2 โรงเรียนร่มเกล้าบ้านชมเจริญ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเลย เขต 1
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. ผลการศึกษาประวัติความเป็นมาของบ้านชมเจริญ และการมาเยือนของในหลวงรัชกาลที่ 9 และทรงปลูกต้นนนทรีไว้เป็นอนุสรณ์เพื่อนำไปสร้างเป็นท่ารำ ชุด ระบำดอกนนทรีทำให้สามารถนำความรู้มาประดิษฐ์ท่ารำได้ 30 ท่า
2. การพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้เอกสารประกอบการสอนกลุ่มสาระศิลปะ สาระนาฏศิลป์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เรื่อง ระบำดอกนนทรี ได้ผ่านกระบวนการสร้างอย่างเป็นระบบ โดยมีโครงสร้างและเนื้อหาสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายและแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนสาระการเรียนรู้นาฏศิลป์ ที่มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนมีสภาพจิตใจที่งดงาม มีสุนทรียภาพมีรสนิยมรักสวย รักงาม รักความเป็นระเบียบเรียบร้อย เห็นคุณค่าความสำคัญของศิลปวัฒนธรรม อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชาติ สามารถค้นพบศักยภาพของตนเอง อันเป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อหรือประกอบอาชีพทางศิลปะ มีจินตนาการ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีความเชื่อมั่น พัฒนาตนเองและแสดงออกได้อย่างสร้างสรรค์
3. เอกสารประกอบการเรียนการสอน เรื่อง ชุด ระบำดอกนนทรี กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ สาระนาฏศิลป์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนร่มเกล้าบ้านชมเจริญ มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน เท่ากับ 79.10/82.37 แสดงว่าการเรียนด้วยเอกสารประกอบการเรียนการสอน เรื่อง ชุด ระบำดอกนนทรี ผู้เรียนได้คะแนน เฉลี่ยสูงกว่าร้อยละ 75 จากการทดสอบภาคปฏิบัติ และกิจกรรมระหว่างเรียนแสดงว่าเอกสารประกอบการเรียนการสอน ชุดระบำดอกนนทรี มีประสิทธิภาพมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
4. ผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยใช้เอกสารประกอบการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ สาระนาฏศิลป์ เรื่อง ชุด ระบำดอกนนทรี โดยเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยของคะแนนความแตกต่างของผู้เรียนก่อนเรียน และหลังเรียน พบว่าคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดย คะแนนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
5. ผลการประเมินความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนการสอน โดยใช้เอกสารประกอบการเรียนการสอน เรื่อง ชุด ระบำดอกนนทรี กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ สาระนาฏศิลป์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 อยู่ในระดับมาก