ชื่อเรื่อง : การประเมินโครงการพัฒนางานบริหารวิชาการเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโรงเรียนวัดมหิสสราราม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา
นครศรีธรรมราช เขต 3
ชื่อผู้ประเมิน : สวาท วงศ์ช่วย
ปีที่ประเมิน : ปีการศึกษา 2560
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการพัฒนางานบริหารวิชาการเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ของนักเรียนโรงเรียนวัดมหิสสราราม อำเภอปากพนัง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3 ประเมินโดยใช้รูปแบบซิปป์ (CIPP Model) ประเมินโครงการ ในด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินบริบท (Context Evaluation) เกี่ยวกับความต้องการจำเป็น ความสอดคล้องของวัตถุประสงค์กับนโยบายและความต้องการของสถานศึกษา ความชัดเจนของวัตถุประสงค์ และความเป็นไปได้ของโครงการ 2) ประเมินปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) เกี่ยวกับความพร้อมของบุคลากร งบประมาณ สถานที่ และความเพียงพอของสื่อและวัสดุอุปกรณ์ 3) ประเมินกระบวนการ (Process Evaluation) เกี่ยวกับด้านการวางแผนงานด้านวิชาการ ด้านการจัดการเรียนการสอน ด้านการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ด้านการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ด้านการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ด้านการนิเทศการศึกษา ด้านการคัดเลือกหนังสือแบบเรียนเพื่อใช้ในสถานศึกษา ด้านการพัฒนาและใช้สื่อเทคโนโลยี 4) ประเมินผลผลิต (Product Evaluation) เกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และพฤติกรรมด้านการเรียน และด้านความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้องกับโครงการ ประชากรที่ใช้ในการประเมินโครงการ ได้แก่ นักเรียน ครู ผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนวัดมหิสสราราม ในปีการศึกษา 2560 รวมทั้งสิ้น จำนวน 64 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินโครงการได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จำนวน 45 คน ประกอบด้วย 1) ผู้บริหารโรงเรียน จำนวน 1 คน 2) ครู จำนวน 3 คน 3) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 6 จำนวน 20 คน 4) ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 14 คน 5) กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการเป็นแบบสอบถามมาตรประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 5 ฉบับ ดังนี้ 1) แบบสอบถามประเมินประเด็นบริบทก่อนการดำเนินงานตามโครงการพัฒนางานบริหารวิชาการเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน 2) แบบสอบถามประเมินประเด็นปัจจัยนำเข้า ประเมินระยะต้นและระหว่างโครงการ 3) แบบสอบถามประเมินประเด็นกระบวนการ ในการดำเนินกิจกรรมตามประเมินโครงการพัฒนางานบริหารวิชาการเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน 4) แบบสอบถามความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องด้านผลผลิต เกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน 5) แบบสอบถามความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการ
การเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการตรวจสอบเอกสารหลักฐาน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ด้วยค่าสถิติ ร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป SPSS for Windows ผลการประเมินและข้อเสนอแนะสรุปได้ดังนี้
ผลการประเมิน
ผลการประเมินโครงการพบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกประเด็นทุกตัวชี้วัดและภาพรวมของโครงการดังนี้
1. ผลการประเมินประเด็นบริบทของโครงการในภาพรวม พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาตัวชี้วัดทั้ง 5 ตัวชี้วัด ได้แก่ ความต้องการจำเป็น ความสอดคล้องของวัตถุประสงค์กับนโยบายและความต้องการของสถานศึกษา ความชัดเจนของวัตถุประสงค์ และความเป็น ไปได้ของโครงการ ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกตัวชี้วัดโดยอยู่ในระดับมากที่สุดทุกตัวชี้วัด
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ ในภาพรวมพบว่าผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาตัวชี้วัดทั้ง 5 ตัวชี้วัด ได้แก่ ความพร้อมของบุคลากร งบประมาณ สถานที่ และความเพียงพอของสื่อและวัสดุอุปกรณ์ ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกตัวชี้วัดโดยอยู่ในระดับมากที่สุดทุกตัวชี้วัด
3. ผลการประเมินประเด็นกระบวนการของโครงการในภาพรวม พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาตัวชี้วัดทั้ง 8 ตัวชี้วัด ได้แก่ ด้านการวางแผนงานด้านวิชาการ ด้านการจัดการเรียนการสอน ด้านการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ด้านการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ด้านการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ด้านการนิเทศการศึกษา ด้านการคัดเลือกหนังสือแบบเรียนเพื่อใช้ในสถานศึกษา ด้านการพัฒนาและใช้สื่อเทคโนโลยี ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกตัวชี้วัด โดยอยู่ในระดับมากที่สุดทุกตัวชี้วัด
4. ผลการประเมินประเด็นผลผลิตของโครงการ ในภาพรวม พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาตัวชี้วัดทั้ง 8 ตัวชี้วัด เกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและพฤติกรรมการเรียน ได้แก่ ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ด้านพฤติกรรมการเรียนในเชิงบวก ด้านความคงทนในการเรียนรู้ ด้านเจตคติต่อการเรียน ด้านแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ด้านความรู้พื้นฐานเดิมด้านความตั้งใจ และด้านเวลาที่ใช้ในการศึกษาเพิ่มเติม พบว่าผ่านเกณฑ์การประเมินทุกตัวชี้วัด โดยอยู่ในระดับมากที่สุดทุกตัวชี้วัด ความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการผ่านเกณฑ์การประเมินทุกตัวชี้วัด โดยอยู่ในระดับมากที่สุดทุกตัวชี้วัด
ดังนั้น จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะให้มีการดำเนินงานตามโครงการพัฒนางานบริหารวิชาการเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโรงเรียนวัดมหิสสราราม อำเภอปากพนัง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3 ต่อไป ทั้งนี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องตระหนักและเห็นความสำคัญ ให้ความร่วมมือ สนับสนุนอย่างจริงจัง มีการกำกับติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินงานโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ