ชื่อเรื่อง รายงานผลการดำเนินโครงการศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ผู้รายงานการประเมิน ว่าที่ ร.ต.หญิงเบญจมาศ เหลือถนอม
สถานศึกษา โรงเรียนกาบเชิงมิตรภาพที่ 190 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์เขต 3
ปีที่รายงานการประเมิน 2560
บทคัดย่อ
รายงานผลการดำเนินโครงการศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนกาบเชิงมิตรภาพที่ 190 อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) รายงานผลการประเมิน 4 ด้าน คือ ด้านบริบท(Context Evaluation) ด้านปัจจัย(Input Evaluation) ด้านกระบวนการ(Process Evaluation) และด้านผลผลิต(Product Evaluation) 2) ศึกษาแนวทางในการพัฒนาโครงการ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ แบ่งเป็น 4 กลุ่มดังนี้ ครูผู้สอน จำนวน 19 คน โดยการสุ่มอย่างง่าย (simple random sampling) นักเรียนชั้น ป.1-ม.3 ในปีการศึกษา 2560 จำนวน 342 คน โดยการสุ่มแบบชั้นภูมิ(stratified sampling) แล้วสุ่มอย่างง่ายโดยการจับฉลาก ผู้ปกครองนักเรียนในปีการศึกษา 2560 จำนวน 342 คน โดยการสุ่มแบบชั้นภูมิ(stratified sampling) แล้วสุ่มอย่างง่ายโดยการจับฉลาก และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 8 คน ด้วยวิธีการสุ่มอย่างง่าย (simple random sampling) รวมทั้งสิ้น 711 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลและประเมินโครงการศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตอนที่ 1 เป็นแบบตรวจสอบรายการ (Check list) และตอนที่ 2 เป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป
ผลการประเมินพบว่า
1. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานโครงการศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนกาบเชิงมิตรภาพที่ 190 อำเภอกาบเชิง ในภาพรวมเฉลี่ยระดับมากที่สุด ( X ̅= 4.50, S.D. = 0.64) ด้านบริบทโดยภาพรวมเฉลี่ยระดับมากที่สุด ( X ̅= 4.58, S.D. = 0.56) ด้านปัจจัยเบื้องต้นโดยภาพรวมเฉลี่ยระดับมาก ( X ̅ = 4.46, S.D. = 0.67) ด้านกระบวนการดำเนินการโดยภาพรวมเฉลี่ยระดับมาก ( X ̅ = 4.48, S.D. = 0.65) ด้านผลผลิตโดยภาพรวมเฉลี่ยระดับมากที่สุด (X ̅ = 4.57 ,S.D. = 0.63) และด้านผลผลิตตามความคิดเห็นของนักเรียนโดยภาพรวมเฉลี่ยระดับมาก ( X ̅ = 4.41, S.D. = 0.69)
2. แนวทางในการพัฒนาโครงการศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนกาบเชิงมิตรภาพที่ 190 อำเภอกาบเชิง สรุปข้อเสนอแนะต่าง ๆ เป็นภาพรวมได้ว่า ฝ่ายวิชาการควรจัดเวลาให้นักเรียนได้ลงมาปฏิบัติเป็นประจำ สม่ำเสมอและต่อเนื่อง ควรมีการปรับกิจกรรมในศูนย์การเรียนรู้ตามฤดูกาลและมีองค์ความรู้สมัยใหม่เข้ามาเพิ่มเติมเพื่อให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติ ทันสมัย นำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการที่บ้านได้มากขึ้น รวมทั้งควรสนับสนุนงบประมาณ วัสดุ อุปกรณ์ การดูแลรักษาในทุกศูนย์การเรียนรู้อย่างเพียงพอ เหมาะสม