ชื่อวิจัย รายงานผลการพัฒนาความพร้อมพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ โดยใช้กิจกรรม
ศิลปะสร้างสรรค์ด้วยกระดาษ สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนบ้านตากวน
ผู้วิจัย นางอรปรียา ฤกษ์ศรี
ปีที่ศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อพัฒนากิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ด้วยกระดาษ
เพื่อพัฒนาความพร้อมพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนบ้านตากวน
ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบความพร้อมพื้นฐานทางคณิตศาสตร์
ของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนบ้านตากวน ก่อนและหลังการจัดประสบการณ์โดยใช้กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ด้วยกระดาษ และ 3) เพื่อหาดัชนีประสิทธิผลของกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์
ด้วยกระดาษ เพื่อพัฒนาความพร้อมพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนบ้านตากวน
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi - Experimental Design) มีกลุ่มทดลอง กลุ่มเดียว มีการวัดก่อนเรียนและหลังเรียนในรูปแบบที่เรียกว่า One Group Pretest Posttest Design กลุ่มเป้าหมายในการวิจัยครั้งนี้ คือ เด็กชาย - เด็กหญิง ที่มีอายุระหว่าง 5 - 6 ปี ที่กำลัง
เรียนอยู่ชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนบ้านตากวน อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 14 คน ซึ่งได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือการวิจัย ประกอบด้วย 1) กิจกรรมเพื่อพัฒนาความพร้อมพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ โดยใช้กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ด้วยกระดาษ ที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว ได้ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.52 ถือว่ามีความเหมาะสมมากที่สุด 2) แผนการจัดประสบการณ์ เพื่อพัฒนาความพร้อมพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ โดยใช้กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ด้วยกระดาษ ที่มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 4.76 และ 3) แบบประเมินความพร้อมพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ด้านการนับจำนวน การจับคู่ การเรียงลำดับ และการบอกตำแหน่ง ที่ผ่านการวิเคราะห์คุณภาพแล้ว ได้ค่าความยากง่าย (p) อยู่ระหว่าง 0.40 - 0.77 และค่าอำนาจจำแนก (D) ที่ระดับ 0.33 ขึ้นไป และค่าความเชื่อมั่นของแบบประเมิน คือ 0.79, 0.77, 0.76 และ 0.80
การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการคำนวณหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ค่าประสิทธิภาพ (E1/ E2) ค่า t - test Dependent Samples และดัชนีประสิทธิผล (E.I.)
ผลการวิจัยพบว่า
1. กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ด้วยกระดาษ เพื่อพัฒนาความพร้อมพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 คือ 88.62/85.54 ซึ่งถือว่าสูงว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
2. ความพร้อมพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนบ้านตากวน
ภายหลังการทดลองโดยใช้กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ด้วยกระดาษ สูงกว่าก่อนการจัดกิจกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ดัชนีประสิทธิผลของกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ด้วยกระดาษ เพื่อพัฒนาความพร้อมพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 มีค่าเท่ากับ 0.7254 หมายความว่า การจัดประสบการณ์โดยใช้กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ด้วยกระดาษ ทำให้เด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนบ้านตากวน มีความก้าวหน้าในการเตรียมพร้อมพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 72.54