บทคัดย่อ
ชื่อผลงาน รายงานการสอนซ่อมเสริมเรื่อง ตัวประกอบของจำนวนนับ โดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านบูเกะสูดอ อำเภอ บาเจาะ
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 1
ชื่อผู้ศึกษา นางสาวมัสรอนีย์ สูหลง
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะชำนาญการ
ปีที่ทำการวิจัย 2560
.................................................................................................
รายงานการสอนซ่อมเสริม เรื่อง ตัวประกอบของจำนวนนับ โดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง ตัวประกอบของจำนวนนับ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านบูเกะสูดอ ปีการศึกษา 2560 ตามเกณฑ์ประสิทธิภาพ 80/80
2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง ตัวประกอบของจำนวนนับ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านบูเกะสูดอ
ปีการศึกษา 2560 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
โรงเรียนบ้านบูเกะสูดอ ปีการศึกษา 2560 ที่มีต่อแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง ตัวประกอบของจำนวนนับ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
โรงเรียนบ้านบูเกะสูดอ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 1 ในปีการศึกษา 2560 จำนวน 16 คน ซึ่งได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง จากนักเรียนที่มีสัมฤทธิ์ทางการเรียนไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินจากหน่วยการเรียนรู้เรื่อง ตัวประกอบของจำนวนนับ เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาที่ผู้ศึกษาสร้างขึ้นประกอบด้วย 1) แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง ตัวประกอบของจำนวนนับ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 14 ชุด 2) แผนการจัดการเรียนรู้การสอนซ่อมเสริม เรื่อง ตัวประกอบของจำนวนนับ โดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 14 แผน 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 30 ข้อ และ4) แบบวัดความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง ตัวประกอบของจำนวนนับ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 10 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที (t-test dependent) ผลการศึกษา พบว่า
1. แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง ตัวประกอบของจำนวนนับ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่ผู้ศึกษาสร้างขึ้น มีประสิทธิภาพ 86.58/84.17 แสดงว่า แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง ตัวประกอบของจำนวนนับ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่สร้างขึ้น มีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ก่อนเรียนและหลังเรียน โดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง ตัวประกอบของจำนวนนับ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่องตัวประกอบของจำนวนนับ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.84 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.42