บทคัดย่อ
ชื่อเรื่อง การประเมินผลการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักเรียนให้ห่างไกลจากเหล้า เบียร์ บุหรี่ และสิ่งเสพติด โดยกิจกรรมโครงงานคุณธรรม
ผู้รับผิดชอบ อรทัย จินดาประสาน
ระยะเวลาการประเมินโครงการ พฤษภาคม 2559 สิงหาคม 2559
วัตถุประสงค์ของการประเมินโครงการ
1. เพื่อประเมินบริบทของโครงการเกี่ยวกับความสอดคล้องระหว่างวัตถุประสงค์ของโครงการกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ นโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นโยบายของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุโขทัย เขต 1 นโยบายโรงเรียน และความต้องการความจำเป็นของโรงเรียน
2 .เพื่อประเมินปัจจัยเบื้องต้นของโครงการเกี่ยวกับความเหมาะสม/เพียงพอของกิจกรรมเกี่ยวกับวิทยากร งบประมาณ ระยะเวลา สถานที่ วัสดุอุปกรณ์ ความรู้ความสามารถของคณะทำงาน การสนับสนุนของฝ่ายบริหารโรงเรียน ผู้ปกครอง และบุคลากรในชุมชน
3. เพื่อประเมินกระบวนการดำเนินงานตามโครงการ เกี่ยวกับความร่วมมือของคณะทำงานและผู้เกี่ยวข้อง ปฏิทินการปฏิบัติงาน บทบาทหน้าที่ ขั้นตอน จุดเด่น จุดด้อย การนิเทศติดตามผล และสิ่งที่ต้องแก้ไขในการดำเนินงาน
4. เพื่อประเมินผลผลิตของโครงการ เกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจและความตระหนักถึงความสำคัญ ในการดำเนินโครงการ
5. เพื่อประเมินผลกระทบของการดำเนินงานตามโครงการ เกี่ยวกับการศึกษาผลกระทบในด้านบวกและด้านลบตามจุดมุ่งหมายการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักเรียนให้ห่างไกลจากเหล้า เบียร์ บุหรี่ และสิ่งเสพติด โดยกิจกรรมโครงงานคุณธรรม ที่เกิดขึ้นก่อนโครงการ ระหว่างโครงการและหลังโครงการที่มีต่อโรงเรียน ตัวนักเรียนและผู้ปกครอง
วิธีดำเนินการประเมินโครงการ
การประเมินผลการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักเรียนให้ห่างไกลจากเหล้า เบียร์ บุหรี่ และสิ่งเสพติด โดยกิจกรรมโครงงานคุณธรรม ดำเนินในระหว่าง พฤษภาคม 2559 สิงหาคม 2559 โดยใช้กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรครู คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครองนักเรียน ผู้นำชุมชน และนักเรียน จำนวน 135 คน การเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จากประชากรประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรครู คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครองนักเรียน ผู้นำชุมชน และนักเรียน จำนวน 281 คน เครื่องมือที่ใช้ประเมินโครงการ คือ แบบสอบถามมาตราส่วนประเมินค่า 5 ระดับ จำนวน 5 ฉบับ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างและนำมาวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ สถิติ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมินโครงการ
ผลการประเมินโครงการในแต่ละด้าน ดังนี้
1. ด้านบริบทของโครงการ พบว่า ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรครู และคณะกรรมการสถานศึกษามีความเห็นด้านบริบทของโครงการต่อการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักเรียนให้ห่างไกลจากเหล้า เบียร์ บุหรี่ และสิ่งเสพติด โดยกิจกรรมโครงงานคุณธรรม มีระดับความสอดคล้องของวัตถุประสงค์กับนโยบายและเป้าหมายโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย = 4.52 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.59)
2. ด้านปัจจัยเบื้องต้นของโครงการ พบว่า ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรครู และคณะกรรมการสถานศึกษา มีความเห็นด้านปัจจัยเบื้องต้นของโครงการ ต่อการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักเรียนให้ห่างไกลจากเหล้า เบียร์ บุหรี่ และสิ่งเสพติด โดยกิจกรรมโครงงานคุณธรรม มีระดับเหมาะสม/เพียงพอโดยรวมอยู่ในระดับ มาก (ค่าเฉลี่ย = 4.48 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.53)
3. ด้านกระบวนการดำเนินงานตามโครงการ พบว่า ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรครู และคณะกรรมการสถานศึกษา มีความเห็นด้านกระบวนการดำเนินงานตามโครงการ ต่อการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักเรียนให้ห่างไกลจากเหล้า เบียร์ บุหรี่ และสิ่งเสพติด โดยกิจกรรมโครงงานคุณธรรม มีระดับการปฏิบัติของการดำเนินงานของโครงการ โดยรวมอยู่ในระดับ มาก (ค่าเฉลี่ย = 4.48 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.56)
4. ด้านผลผลิตของโครงการ พบว่า นักเรียนมีความเห็นด้านผลผลิตของโครงการต่อการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักเรียนให้ห่างไกลจากเหล้า เบียร์ บุหรี่ และสิ่งเสพติด โดยกิจกรรมโครงงานคุณธรรม เกี่ยวกับด้านความรู้ความเข้าใจและความตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินโครงการ มีระดับความสำเร็จของการดำเนินงานโครงการโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย = 4.54 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.49)
5. ด้านผลกระทบของการดำเนินงานตามโครงการ พบว่า ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรครู นักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครองนักเรียน และผู้นำชุมชน มีความเห็นด้านผลกระทบของการดำเนินงานตามโครงการต่อการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักเรียนให้ห่างไกลจากเหล้า เบียร์ บุหรี่ และสิ่งเสพติด โดยกิจกรรมโครงงานคุณธรรม ที่เกิดขึ้นก่อนโครงการ ระหว่างโครงการและหลังโครงการที่มีต่อโรงเรียน ตัวนักเรียนและผู้ปกครอง มีระดับความสำเร็จของการดำเนินการของโครงการ โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด แยกเป็นผลกระทบรายด้าน ดังนี้
5.1 ผลกระทบต่อโรงเรียน มีระดับความสำเร็จของการดำเนินการโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย = 4.53 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.46)
5.2 ผลกระทบต่อตัวนักเรียน มีระดับความสำเร็จของการดำเนินการโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย = 4.52 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.49)
5.3 ผลกระทบต่อผู้ปกครอง มีระดับความสำเร็จของการดำเนินการโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย = 4.57 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.45)