ชื่อผลงาน การประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนท่าชนะ
ผู้ประเมิน นายวานิช อินทร์สุวรรณ รองผู้อำนวยการโรงเรียนท่าชนะ
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 11
ปีการศึกษา 2560
บทสรุปผู้บริหาร
รายงานการประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนท่าชนะ อำเภอท่าชนะ จังหวัด
สุราษฎร์ธานี มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินบริบทของโครงการเกี่ยวกับความต้องการจำเป็นและความเป็นไปได้ของโครงการ ปัจจัยนำเข้าของโครงการเกี่ยวกับความเหมาะสมของบุคลากรที่รับผิดชอบ และงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงาน กระบวนการของโครงการเกี่ยวกับกิจกรรมที่ดำเนินการและการติดตามโครงการ และผลผลิตของโครงการเกี่ยวกับการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล การคัดกรองนักเรียน การแก้ไขปัญหาของนักเรียน การส่งต่อนักเรียน การมีวินัยของนักเรียน ความพึงพอใจของนักเรียน ผู้ปกครอง และครู มีกลุ่มตัวอย่าง 658 คน ประกอบด้วย นักเรียน 294 คน ผู้ปกครอง 294 คน และครู 70 คน ได้มาโดยการสุ่มอย่างง่ายโดยการจับฉลาก เครื่องมือที่ใช้ ประกอบด้วย แบบบันทึก แบบสอบถาม และแบบสัมภาษณ์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่
ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และ x ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติที่ใช้หาคุณภาพเครื่องมือ ได้แก่ IOC หาความตรงเชิงเนื้อหาของแบบสอบถาม และสัมประสิทธิ์แอลฟาหาความเที่ยงของแบบสอบถาม ผลการประเมินโครงการสรุปได้ดังนี้
ผลการประเมินโครงการในภาพรวม พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกประเด็นและทุกตัวชี้วัด ดังนี้
1.ผลการประเมินด้านบริบท พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมากทั้งตัวชี้วัดความต้องการจำเป็นในการจัดทำโครงการ และความเป็นไปได้ของโครงการ
2.ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมากทั้งตัวชี้วัดความเหมาะสมของบุคลากรที่รับผิดชอบ และร้อยละของงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงาน
3.ผลการประเมินด้านกระบวนการ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมากที่สุดทั้งตัวชี้วัด
ร้อยละของกิจกรรมที่ดำเนินการ และร้อยละของการติดตามโครงการ
4.ผลการประเมินด้านผลผลิต พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกตัวชี้วัด ระดับมากที่สุด ได้แก่ ร้อยละของนักเรียนที่ได้รับการส่งต่อ ระดับมาก ได้แก่ ร้อยละของนักเรียนที่ครูรู้จักเป็นรายบุคคล ร้อยละของนักเรียนที่ได้รับการคัดกรอง ร้อยละของนักเรียนที่มีวินัยเพิ่มขึ้น ระดับความ พึงพอใจของนักเรียน ระดับความพึงพอใจของผู้ปกครอง และระดับวัดความพึงพอใจของครู ระดับปานกลาง ได้แก่ ร้อยละของนักเรียนที่ได้รับการแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ
ข้อเสนอแนะ
การพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากหลายๆ ฝ่าย เช่น ครูและผู้บริหารสถานศึกษา กรรมการสถานศึกษา นักเรียน ผู้ปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงจะทำให้นักเรียนได้รับการพัฒนา ป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง จากผลการประเมินโครงการส่งเสริมระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนท่าชนะ จะเห็นได้ว่าควรดำเนินโครงการนี้ต่อไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ผู้เกี่ยวข้องควรนำผลการประเมินไปปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินโครงการอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตามข้อเสนอแนะดังนี้ 1)จากผลการประเมินประเด็นบริบท พบว่าผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมาก แต่เมื่อพิจารณารายข้อพบว่าความร่วมมือของผู้ปกครอง และการกำกับติดตามโครงการอยู่ในระดับปานกลาง ผู้บริหารจึงควรชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ปกครองให้เห็นถึงความสำคัญของการร่วมมือในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน และควรกำกับติดตามการดำเนินงานตามโครงการโดยต่อเนื่อง นอกจากนี้บริบทของโครงการเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการการดำเนินโครงการ การกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการให้สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นและความเป็นไปได้ของโครงการจะเป็นเข็มทิศชี้นำการปฏิบัติไปสู่ความสำเร็จได้ดี จึงควรมีการพิจารณาถึงความต้องการจำเป็นของสภาพแวดล้อม คือ ความต้องการของนักเรียน ผู้ปกครอง และครู และกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการให้สอดคล้องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา นโยบายหน่วยงานต้นสังกัด และสภาพปัญหาของนักเรียน อันเป็นการตอบสนองความต้องการของนักเรียนอย่างแท้จริง 2) จากผลการประเมินประเด็นปัจจัยนำเข้าโครงการ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อพบว่าความเพียงพอและความพร้อมของบุคลากรอยู่ในระดับปานกลาง ผู้บริหารจึงควรควรสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ต้องใช้ในการดำเนินงานโครงการให้เหมาะสมกับการทำกิจกรรม และควรสร้างขวัญกำลังใจและพัฒนาศักยภาพบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ให้พร้อมก่อนการปฏิบัติงาน เพื่อให้การดำเนินโครงการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด 3)จากผลการประเมินประเด็นกระบวนการ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมากที่สุด แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบของผู้รับผิดชอบโครงการซึ่งควรยึดถือปฏิบัติในการดำเนินโครงการ นอกจากนั้นการปฏิบัติตามกิจกรรมของโครงการมีหลายกิจกรรมที่ต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้าน เช่น นักจิตวิทยา นักสาธารณสุข ในการดูแลช่วยเหลือพัฒนานักเรียนตามสภาพปัญหาและความต้องการของแต่ละคน จึงควรขอความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญภายนอกหรือพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถให้คำแนะนำช่วยเหลือ และติดตามผลในการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินโครงการบรรลุวัตถุประสงค์ 4)จากผลการประเมินประเด็นผลผลิต พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมาก ยกเว้นตัวชี้วัดนักเรียนที่ได้รับการแก้ปัญหาได้สำเร็จอยู่ในระดับปานกลาง ทั้งนี้อาจเนื่องจากนักเรียนแต่ละคนยังมีปัญหาด้านอื่น ๆ อีก ครูจึงควรหาข้อมูลหรือทำวิจัยเชิงสำรวจเกี่ยวกับปัญหาของนักเรียนเป็นรายบุคคล เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาให้แก่นักเรียนต่อไป นอกจากนี้ยังพบว่านักเรียน ผู้ปกครอง และครู มีความพึงพอใจต่อโครงการในระดับมากที่สุด จึงควรจัดกิจกรรมตามโครงการอย่างต่อเนื่อง และปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้เหมาะกับความต้องการและสภาพปัญหาของนักเรียน เพื่อสร้างความพึงพอใจแก่นักเรียน ผู้ปกครอง และครู ให้มากยิ่งขึ้นไป