2. ความเป็นมา
2.1 สภาพทั่วไป
อาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาเป็นเวลานาน ทั้งนี้เพราะเป็นอาชีพที่ก่อให้เกิดปัจจัยต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ปัจจัยดังกล่าว ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค จึงถือได้ว่าอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่มีความสำคัญและส่งผลต่ออาชีพอื่นๆ เป็นอาชีพที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า
จากวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชนซึ่งมีความเกี่ยวข้องผูกพันกับทรัพยากรธรรมชาติ การใช้ประโยชน์การพึ่งพิงอาศัย เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากป่าไม้ ยังผลให้เกิดวิถีการกินอยู่อย่างไทย ตามแบบวิถีภูมิปัญญาไทยของชุมชน มีความเกี่ยวข้องกับการใช้สมุนไพร ผัก ผลไม้ ดอกไม้ ต้นไม้ ต้นหญ้าที่หาได้ไม่ยากในท้องถิ่น นำมารังสรรค์โดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่ม ยารักษาโรค ลูกประคบ ยาสระผม ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำความสะอาด โดยการแปรรูปนั้นตัวยายังคงคุณค่า ภูมิปัญญาไทยเหล่านี้ได้รับการสั่งสม สืบทอด และพัฒนามาอย่างยาวนานจากบรรพบุรุษ จากปราชญ์ ผู้รู้ พ่อแม่ สู่ลูกหลาน เยาวชนจากรุ่นสู่รุ่น ดังนั้นการพัฒนาสมุนไพรไทยให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสมุนไพร จึงยังเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องเร่งผลักดัน ผ่านกระบวนการทำงานให้เกิดความมั่นคง ยั่งยืนและการเรียนรู้ และการเก็บรักษาเพื่อความคงอยู่คู่ชุมชนสืบไป
จากภูมิปัญญาของชุมชน ที่ผ่านเวลา ผ่านกระบวนการต่างๆในวิถีชุมชน นำมาถ่ายทอดความรู้ในเรื่องของการอนุรักษ์และแปรรูปสมุนไพร เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้แบบร่วมมือ การทำงานที่มีวินัย มีทักษะการคิด การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โรงเรียนได้จัดกิจกรรมการรู้แบบบูรณาการ เรื่องการอนุรักษ์และแปรรูปสมุนไพร ทั้งในและนอกหลักสูตร มุ่งเน้นให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติ โดยการจัดการความรู้ได้รับความร่วมมือจากทุกส่วนในชุมชน ทั้ง หมู่บ้าน วัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ โครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริเทือกเขาภูพาน จังหวัดกาฬสินธุ์ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพบ้านกอก จนนำไปสู่การจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์และแปรรูปสมุนไพรโรงเรียนบ้านกอกวิทยาคม
2.2 สภาพปัญหา
จากกิจกรรมการเยี่ยมบ้านนักเรียนของโรงเรียนบ้านกอกวิทยาคม พบว่าที่บ้านนักเรียนและพื้นที่ของกลุ่มปลูกสมุนไพรและรอบๆบ้าน จะมีการปลูกสมุนไพรหลายชนิด พบมากที่สุด คือ ไพล ขมิ้นชัน มะกรูด ตะไคร้ ใบเตย ต้นเปล้าใหญ่ ต้นหนาด เถาเอ็นอ่อน ซึ่งได้สอบถามนักเรียน นักเรียนส่วนมากจะตอบชื่อและสรรพคุณของสมุนไพรไม่ได้ เพราะนักเรียนยังขาดทักษะในเรื่องของการความรอบรู้เกี่ยวกับสิ่งใกล้ตัวและการนำความรู้มาพิจารณาให้เชื่อมโยง ให้เกิดวางแผนทักษะในการสื่อสาร และการทำงานร่วมกัน
2.3 ลักษณะสำคัญของ Best Practice
ลักษณะสำคัญของกิจกรรม Best Practice การเสริมสร้างจิตสำนึกสุจริตผ่านวัตกรรมวิถีไทยสมุนไพรพอเพียงเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในนักเรียนที่เห็นชัดที่สุด 3 ด้าน ด้วยกันคือ
1) เปลี่ยนใจ เป็นการเปลี่ยนค่านิยม เปลี่ยนความคิดในการเรียนรู้และทำงานร่วมกับผู้อื่น
2) เปลี่ยนจากความเป็นผู้ไม่รู้ เป็นผู้รู้
3) เปลี่ยนจากผู้ทำไม่ได้ ทำไม่เป็น เป็นผู้ทำได้ ทำเป็น
ในการเปลี่ยนแปลงผ่านนวัตกรรมนี้ นักเรียนจะมีความสุขในการเรียนรู้ และครูได้สอดแทรกการพัฒนานักเรียน ให้มีจิตสำนึกสุจริต ทั้ง 5 ประการของโรงเรียนสุจริต คือ ทักษะกระบวนการคิด ความมีวินัย ความซื่อสัตย์สุจริต อยู่อย่างพอเพียง และมีจิตสาธารณะ กล่าวคือการจัดการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ ทำให้นักเรียนได้พัฒนาความเจริญงอกงามด้านกายภาพและศักยภาพของนักเรียนแต่ละคน