ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างความรู้เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดเชิงวิทยาศาสตร์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
ผู้วิจัย นางสาวปิยะมาศ ปรากฏมาก
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
สังกัด โรงเรียนเทศบาล 3 เทศบาลอนุสรณ์ กองการศึกษาเทศบาลเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
ปีที่พิมพ์ 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ตามทฤษฎีการสร้างความรู้เพื่อส่งเสริมความสามารถในคิดเชิงวิทยาศาสตร์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 2) เพื่อพัฒนาและศึกษาประสิทธิภาพของรูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างความรู้เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดเชิงวิทยาศาสตร์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ตามเกณฑ์ 80/80 3) เพื่อศึกษาประสิทธิผลเชิงประจักษ์ของรูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างความรู้ร่วมเพื่อส่งเสริมความสามารถในคิดวิเคราะห์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ดังนี้ (3.1) เปรียบเทียบความสามารถในการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ก่อนและหลังเรียน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่เรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ตามทฤษฎีการสร้างความรู้ (3.2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่เรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ตามทฤษฎีการสร้างความรู้และ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ตามทฤษฎีการสร้างความรู้ การวิจัยนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) โดยกำหนดรูปแบบการทดลองแบบกลุ่มเดียว ทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาล 3 เทศบาลอนุสรณ์ สังกัดเทศบาลเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 3 ห้องเรียน มีนักเรียนจำนวน 87 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาล 3 เทศบาลอนุสรณ์ สังกัดเทศบาลเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 1 ห้องเรียน มีนักเรียนจำนวน 36 คน ได้มาจากวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบกลุ่ม (Cluster sampling) คือ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/1 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบสอบถามความพึงพอใจ วิเคราะห์ข้อมูลสถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) การทดสอบค่าที (dependent t - test) และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัย พบว่า
1) รูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างความรู้เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มีชื่อว่า (RPARCE : Model) จากการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญรูปแบบการเรียนการสอนมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับทุกองค์ประกอบ รูปแบบการเรียนการสอนมี 8 องค์ประกอบ คือ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการเรียนการสอน หลักการตอบสนอง ระบบสังคม สิ่งสนับสนุน สาระความรู้ และสิ่งส่งเสริมการเรียนรู้ กระบวนการเรียนการสอนมี 6 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1) ขั้นตรวจสอบความรู้เดิม (Reviewing Knowledge : R) 2) ขั้นเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนรู้ (Preparation : P) 3) ขั้นเรียนรู้และฝึกปฏิบัติ (Action : A) 4) ขั้นสะท้อนความคิด (Reflection : R) 5) ขั้นสร้างความรู้ (Construction : C) 6) ขั้นประเมินผล (Enumeration : E)
2) โดยภาพรวมรูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างความรู้ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มีประสิทธิภาพ 81.72/80.64 มีประสิทธิภาพเป็นไปตามเกณฑ์ 80/80
3) ผลการทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอน อาร์พีเออาร์ซีอี พบว่า 3.1) ความสามารถในการคิดเชิงวิทยาศาสตร์หลังเรียน ( = 39.58 , S.D. = 5.12) สูงกว่าก่อนเรียน ( = 12.89 , S.D. = 4.98) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 3.2) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลังเรียน( = 32.47 , S.D. = 2.52) สูงกว่าก่อนเรียน ( = 12.00 , S.D. = 2.60) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4) นักเรียนมีความพึงพอใจต่อกระบวนการจัดการเรียนการสอนตามรูปแบบการเรียนการสอนในภาพรวมพบว่า อยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.61 , S.D. = 0.52) ในรายด้านพบว่า อยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้าน 2 ด้าน เรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย คือ ด้านประโยชน์ที่ได้รับ ( = 4.76 , S.D. = 0.45) ด้านบรรยากาศในการเรียน ( = 4.54, S.D. = 0.52) และความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก คือด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ( = 4.48, S.D. = 0.55)