ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมการจัดการ
เรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของโรงเรียนเทศบาลธาตุ สังกัดเทศบาลตำบลธาตุ
จังหวัดเลย
ผู้วิจัย นางสาวเพ็ญฉัตรศรี เอี้ยงลักขะ
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะ ผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ
สถาบัน โรงเรียนเทศบาลธาตุ สังกัดกองการศึกษา เทศบาลตำบลธาตุ
จังหวัดเลย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
ปีที่พิมพ์ 2560
บทคัดย่อ
การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของโรงเรียนเทศบาลธาตุ สังกัดเทศบาลตำบลธาตุ จังหวัดเลย ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัจจุบันความต้องการและแนวทางของการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 2) สร้างรูปแบบการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ ในศตวรรษที่ 21 3) ทดลองใช้รูปแบบการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และ 4) นำเสนอผลรูปแบบการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของโรงเรียนเทศบาลธาตุ สังกัดเทศบาลตำบลธาตุ จังหวัดเลย การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development : R & D) ดำเนินการ 4 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การวิจัย (Research : R1) การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน (Analysis : A) ศึกษาสภาพปัจจุบัน ความต้องการและแนวทางของการพัฒนารูปแบบ โดยการวิเคราะห์เนื้อหา ศึกษาความคิดเห็นของครูปฏิบัติการสอน จำนวน 22 คน โดยใช้แบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ (Rating Scale) วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ศึกษาความต้องการและแนวทางของการพัฒนารูปแบบ2 โดยการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน ขั้นตอนที่ 2 การพัฒนา (Development : D1) การออกแบบและพัฒนา (Design and Development : D&D) โดยสอบถามความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน ขั้นตอนที่ 3 การวิจัย (Research : R2) การนำไปใช้ (Implementation : I) โดยสอบถามความคิดเห็นครู จำนวน 15 คน และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนประถมศึกษา ปีที่ 1-5 จำนวน 243 คน ขั้นตอนที่ 4 การพัฒนา (Development : D2) การประเมินผล (Evaluation : E) โดยจัดประชาพิจารณ์ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จำนวน 40 คน ใช้แบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ (Rating Scale) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย พบว่า
จากการดำเนินการวิจัย 4 ขั้นตอน สามารถสรุปดังนี้
1. ผลการศึกษาสภาพปัจจุบันความต้องการและแนวทางของการบริหารจัดการแบบ มีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของโรงเรียนเทศบาลธาตุ สังกัดเทศบาล ตำบลธาตุ จังหวัดเลย พบว่า
สภาพปัจจุบันของการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 อยู่ในระดับปานกลาง ความต้องการและแนวทางในการจัดการเรียนรู้ จากการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ สรุปได้ว่า การบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เป็นการจัดการเรียนรู้ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และสอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 (พ.ศ. 2552-2561) การเรียนรู้ตลอดชีวิตเกิดจากการผสมผสานระหว่างการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยแนวทางที่ควรจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตในโรงเรียน ต้องเป็นแนวทางที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามความสนใจจะต้องให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองมากที่สุดโดยโรงเรียนต้องจัดแหล่งเรียนรู้ ที่หลากหลาย จัดสภาพแวดล้อม ห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ ห้องสมุดที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ให้ผู้เรียนและควรกำหนดไว้ในโครงสร้างหลักสูตรหรือแผนปฏิบัติการของโรงเรียน การสังเคราะห์องค์ประกอบหลักเกี่ยวกับรูปแบบการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ได้ 4 องค์ประกอบ
2. ผลการสร้างรูปแบบการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของโรงเรียนเทศบาลธาตุ สังกัดเทศบาลตำบลธาตุ จังหวัดเลย ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ 11 แนวทาง 43 รายการย่อย
การสร้างคู่มือการดำเนินการตามรูปแบบการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของโรงเรียนเทศบาลธาตุ สังกัดเทศบาลตำบลธาตุ จังหวัดเลย ประกอบด้วยส่วนสำคัญ ดังนี้ 1) หลักการและเหตุผล 2) วัตถุประสงค์ 3) ข้อจำกัดในการนำคู่มือไปใช้ 4) วิธีดำเนินการตามรูปแบบ 5) เงื่อนไขความสำเร็จของรูปแบบ 6) บรรณานุกรม และ7) ภาคผนวก ผลการประเมินคู่มือการดำเนินการตามรูปแบบจากการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ มีความเหมาะสมและความเป็นไปได้
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของโรงเรียนเทศบาลธาตุ สังกัดเทศบาลตำบลธาตุ จังหวัดเลย มีดังนี้
3.1 ผลการศึกษาความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้รูปแบบการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ตามความคิดเห็นของครูปฏิบัติการสอนระดับ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-5 โดยภาพรวมมีการปฏิบัติ/เห็นด้วยอยู่ในระดับ มากที่สุด
3.2 ผลการศึกษาความพึงพอใจเกี่ยวกับรูปแบบการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของโรงเรียนเทศบาลธาตุ สังกัดเทศบาลตำบลธาตุ จังหวัดเลย ตามความคิดเห็นของนักเรียน โดยภาพรวมมีความพึงพอใจ อยู่ในระดับมากที่สุด
4. ผลการนำเสนอผลการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของโรงเรียนเทศบาลธาตุ สังกัดเทศบาลตำบลธาตุ จังหวัดเลย รูปแบบการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของโรงเรียนเทศบาลธาตุ สังกัดเทศบาลตำบลธาตุ จังหวัดเลย โดยประชาพิจารณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง พบว่า โดยภาพรวมเห็นด้วยกับรูปแบบการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตอยู่ในระดับมากที่สุด