เรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์โดยประยุกต์วิธีการแบบเปิด (Open-
Approach) เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
ผู้วิจัย นางพรรณพิไล เมืองจันทร์
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
สังกัด โรงเรียนเมืองจันทร์วิทยาคม องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ
ปีที่พิมพ์ 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายของการวิจัยเพื่อ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการเรียนรู้คณิตศาสตร์ รูปแบบการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์โดยประยุกต์วิธีการแบบเปิด(Open Approach) เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยประยุกต์วิธีการแบบเปิด(Open Approach) เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์โดยมีวัตถุประสงค์ย่อยดังนี้ 3.1) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่เรียนโดยรูปแบบการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์โดยประยุกต์วิธีการแบบเปิด(Open Approach)เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน 3.2) เพื่อเปรียบเทียบความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่เรียนโดยรูปแบบการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์โดยประยุกต์วิธีการแบบเปิด(Open Approach)เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบการจัดการเรียนคณิตศาสตร์โดยประยุกต์วิธีการแบบเปิด(Open Approach) เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยผู้วิจัยใช้เนื้อหา เรื่อง สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว ในการวิจัย กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเมืองจันทร์วิทยาคม จำนวน 32 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ รูปแบบการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์โดยประยุกต์วิธีการแบบเปิด (Open Approach) เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีผลการประเมินโดยรวมเฉลี่ย 4.57 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.64 แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว ชนิดปรนัยเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ มีค่าความยาก ตั้งแต่ 0.25 - 0.89 มีค่าอำนาจจำแนกรายข้อ (B) ตั้งแต่ 0.57 - 0.80 และมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ (rcc) เท่ากับ 0.95 แบบทดสอบวัดความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ เป็นแบบอัตนัยจำนวน 4 ด้านๆ 2 ข้อ มีค่าความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา เท่ากับ 1.00 มีค่าความยาก (p) ตั้งแต่ 0.26 - 0.56 ค่าอำนาจจำแนกรายข้อ (D) ตั้งแต่ 0.44 - 0.94 และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ (α) เท่ากับ 0.83 และแบบสอบถามความพึงพอใจ เป็นแบบมาตรตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ แบ่งเป็น 4 ด้าน รวม 20 ข้อ สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่า เฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติทีแบบไม่อิสระ (t-test dependent ) และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) นำเสนอข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการพรรณนาวิเคราะห์
ผลการวิจัย พบว่า
ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการเรียนรู้คณิตศาสตร์ รูปแบบการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ การสอนวิธีการแบบเปิด(Open Approach) ความคิดสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 พบว่า ในการจัดการเรียนรู้ ครูผู้สอนยังขาดการสนับสนุนและเปิดโอกาส ให้นักเรียนได้คิดอย่างอิสระ หลากหลายแนวทาง ครูส่วนใหญ่จะจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามเนื้อหาในหนังสือเรียน ขาดแนวทางในการจัดการเรียนรู้เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนกล้าคิด กล้าแสดงออก และส่วนมากยังไม่ให้ความสำคัญในการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ และนักเรียนส่วนมากยังไม่ได้รับการสนับสนุนให้เรียนรู้ ตามกรอบแนวทางการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์อย่างสร้างสรรค์ที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งกิจกรรมที่ครูจัดให้นักเรียนยังไม่มีความลุ่มลึกพอที่จะเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาการคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ให้บรรลุผล ครูไม่ได้สนับสนุนให้คิดหาแนวทางหรือแบบแผนการค้นหาคำตอบที่แตกต่างหลากหลายด้วยวิธีการแบบใหม่ จึงส่งผลให้นักเรียนต้องการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์เพิ่มขึ้นอีก ครูผู้สอนจึงจำเป็นที่จะต้องจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่กระตุ้นให้นักเรียนกล้าคิด คิดเป็นระบบ อยากเรียนรู้สิ่งแปลกใหม่
ขั้นตอนที่ 2 การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ซึ่งมีองค์ประกอบดังนี้ 1) หลักการ แนวคิดทฤษฎีพื้นฐาน 2) วัตถุประสงค์ของรูปแบบ 3) ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่ 1 ขั้นเตรียมความพร้อมและกระตุ้นความสนใจในการเรียน (Preparing and Motivating : P) ขั้นที่ 2 ขั้นเรียนรู้แบบเปิดและฝึกปฏิบัติ(Learning and Action :A) ขั้นที่ 3 ขั้นสะท้อนความรู้และสรุป (Reflective and Summarizing: R) ขั้นที่ 4 ขั้นสร้างความคิดใหม่ (Concstruction Idea Thinking : C ขั้นที่ 5 ขั้นประเมินผล (Evaluation : E) 4) ระบบสังคม
5) หลักการตอบสนอง 6) ระบบสนับสนุน โดยประยุกต์ใช้แนวคิดทฤษฎีสนับสนุน ได้แก่ ทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ (Constructivist Theory) ร่วมกับวิธีการแบบเปิด และประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ (E1/E2) หาแบบกลุ่มใหญ่ (Filed Tryour) ประสิทธิภาพผลลัพธ์คำนวณจากการทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียน พบว่าประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ เท่ากับ 79.67/80.11 และประสิทธิภาพผลลัพธ์คำนวณจากการทดสอบวัดความคิดสร้างสรรค์หลังเรียน ประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ เท่ากับ 79.67 /80.83
ขั้นตอนที่ 3 ทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ โดยประยุกต์วิธีการแบบเปิด (Open Approach) เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ พบว่า พบว่า 1) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบที่พัฒนาขึ้นหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2) นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบที่พัฒนาขึ้นมีคะแนนความคิดสร้างสรรค์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
ขั้นตอนที่ 4 การประเมินรูปแบบเป็นการศึกษาความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้ พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการเรียนการรู้คณิตศาสตร์โดยประยุกต์ วิธีการแบบเปิด (Open Approach) เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ ในภาพรวมx̄=4.55 อยู่ในระดับมากที่สุด