ชื่อเรื่อง รายงานผลการพัฒนาแบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและเขียนสะกดคำภาษาไทย
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
ผู้รายงาน นางสาววิไลลักษณ์ ชุมสิงห์
สถานศึกษา โรงเรียนเทศบาลวัดเหนือ
ปีการศึกษา 2561
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาแบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและเขียนสะกดคำภาษาไทย กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนระหว่างคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยแบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและเขียนสะกดคำภาษาไทย กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 3) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่เรียนด้วยแบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและเขียนสะกดคำภาษาไทย กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1/2 โรงเรียนเทศบาลวัดเหนือ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 จำนวน
30 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มตัวอย่างแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) แบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและเขียนสะกดคำภาษาไทย กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 12 ชุด 2) แผนการจัดการเรียนรู้การอ่านและเขียนสะกดคำภาษาไทย สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 12 แผน 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังเรียน เรื่อง การอ่านและเขียนสะกดคำภาษาไทย สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เป็นแบบตัวเลือกตอบ 3 ตัวเลือก จำนวน 20 ข้อ มีค่าความยากง่าย (P) อยู่ระหว่าง 0.30 - 0.76 ค่าอำนาจจำแนก (B) อยู่ระหว่าง 0.25 0.87 มีค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบทั้งฉบับ เท่ากับ 0.84 และ 4) แบบสอบถามความพึงพอใจที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและเขียนสะกดคำภาษาไทย กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 3 ระดับ จำนวน 10 ข้อ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติทีแบบไม่อิสระ (t-test แบบ Dependent Samples)
ผลการศึกษา พบว่า
1. แบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและเขียนสะกดคำภาษาไทย กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 87.26/85.43 เมื่อเทียบกับเกณฑ์ 80/80 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
2. ผลสัมฤทธิ์การเรียนของนักเรียนที่เรียนด้วยแบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและเขียนสะกดคำภาษาไทย กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ปรากฏว่า หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ด้วยแบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและเขียนสะกดคำภาษาไทย กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ปรากฏว่า โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด