งานวิจัยเรื่อง การพัฒนารูปแบบการสอนแบบอิงประสบการณ์ร่วมกับการสอนด้วยแหล่ง
การเรียนรู้ในชุมชน เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการกลุ่ม กลุ่มสาระการเรียนรู้
สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนวัดบ่อ
(นันทวิทยา) นครปากเกร็ด ๑
ผู้วิจัย นางโชติมา กลิ่นบุบผา
ปีที่สำเร็จ 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ (1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานและประเมินความต้องการรูปแบบการสอนแบบอิงประสบการณ์ร่วมกับการสอนด้วยแหล่งการเรียนรู้ในชุมชนเพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการกลุ่ม กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 (2) เพื่อพัฒนารูปแบบการสอนแบบอิงประสบการณ์ร่วมกับการสอนด้วยแหล่งการเรียนรู้ในชุมชนเพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการกลุ่ม (3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการสอนดังกล่าว และ (4) เพื่อประเมินและปรับปรุงรูปแบบการสอนเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น
รูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยและพัฒนามี 4 ขั้น ขั้นที่ 1 การวิจัยเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน และประเมินความต้องการของรูปแบบและพัฒนากรอบแนวคิด กลุ่มตัวอย่างการวิจัย คือ ผู้บริหาร ครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม และนักเรียน ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 รวมทั้งสิ้น 100 คน และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกรอบแนวคิดของรูปแบบการสอน เครื่องมือการวิจัย คือ (1) แบบสอบถามความต้องการเกี่ยวกับการสอนแบบอิงประสบการณ์ การใช้แหล่งการเรียนรู้ในชุมชน และกระบวนการกลุ่ม (2) แบบสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกรอบแนวคิด ขั้นที่ 2 การพัฒนา หลังจากได้กรอบแนวคิดได้ร่างรูปแบบการสอนและประเมินคุณภาพ โดยผู้ทรงคุณวุฒิ ด้วยแบบประเมินคุณภาพ ขั้นที่ 3 การวิจัย นำรูปแบบการสอนที่ผ่านการประเมินคุณภาพไปทดลองใช้เบื้องต้นกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 35 คน จำนวน 1 ห้อง ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 กลุ่มตัวย่างได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม นำผลจากการทดลองใช้เบื้องต้นไปปรับปรุงและนำไปทดลองใช้จริงกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 30 คน จำนวน 1 ห้อง ภาคการเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม เครื่องมือในการทดลองใช้เบื้องต้นและใช้จริง คือ (1) รูปแบบการสอนแบบอิงประสบการณ์ร่วมกับการสอนด้วยแหล่งการเรียนรู้ (2) แผนการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบการสอนจำนวน 18 ชั่วโมง (2) แบบประเมินทักษะกระบวนการทำงานกลุ่ม (3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (4) แบบสอบถามความพึงพอใจ ขั้นที่ 4 การประเมิน ปรับปรุง และพัฒนารูปแบบการสอน โดยการจัดประชุมสัมมนาเกี่ยวกับรูปแบบการสอน ผู้บริหาร และครูกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาศาสนา และวัฒนธรรม ในสังกัดเทศบาลนครปากเกร็ด จำนวน 28 คน เครื่องมือการวิจัย คือ แบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปแบบการสอน การวิเคราะห์ข้อมูลที่ใช้ คือ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าประสิทธิภาพ E1/E2 การทดสอบค่าที และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัย ดังนี้ (1) ผู้บริหาร ครูผู้สอน และนักเรียนมีความต้องการการสอนแบบอิงประสบการณ์ โดยใช้แหล่งการเรียนรู้ และต้องการเรียนด้วยทักษะกระบวนการกลุ่ม โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ในรายข้อต้องการอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด เกี่ยวกับหน่วยประสบการณ์
การแนะนำการเผชิญประสบการณ์ การกำหนดประสบการณ์หลักและรองร่วมกัน การใช้แหล่งการเรียนรู้เพื่อเผชิญประสบการณ์ และขั้นตอนการทำงานกลุ่ม ส่วนผู้เชี่ยวชาญเห็นด้วยกับกรอบแนวคิดของรูปแบบการสอนการสอน (2) รูปแบบการสอน ประกอบด้วย (2.1) องค์ประกอบ หลักการและเหตุผล จุดมุ่งหมาย กิจกรรมการเรียน สื่อและแหล่งการเรียน และการประเมินผล และ (2.2) ขั้นตอนของรูปแบบการสอนมี 8 ขั้น ดังนี้ ขั้นที่ 1 การกำหนดหน่วยประสบการณ์ ขั้นที่ 2 การประเมินก่อนเผชิญประสบการณ์ ขั้นที่ 3 การเข้ากลุ่มและชี้แนะแหล่งการเรียนรู้ในชุมชนโดยใช้กระบวนการกลุ่ม ขั้นที่ 4 การกำหนดประสบการณ์หลักและประสบการณ์รองจากหน่วยประสบการณ์โดยใช้กระบวนการกลุ่ม ขั้นที่ 5 การเผชิญประสบการณ์ด้วยการรวบรวมข้อมูลโดยใช้กระบวนการกลุ่ม ขั้นที่ 6 การเผชิญประสบการณ์แหล่งการเรียนรู้ในชุมชนโดยใช้กระบวนการกลุ่ม ขั้นที่ 7 การวิเคราะห์ผลการเผชิญประสบการณ์โดยใช้กระบวนการกลุ่ม และขั้นที่ 8 การประเมินหลังเผชิญประสบการณ์ (3) การทดลองใช้รูปแบบการสอนในการทดลองใช้จริง พบว่า มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด 80/80 E1/E2 เรียงตามลำดับแต่ละหน่วย ดังนี้ 81.27/82.71, 82.29/80.00, และ 80.86/81.71 นักเรียนทุกคนที่เรียนด้วยรูปแบบการสอนมีทักษะการทำงานกลุ่มผ่านตามเกณฑ์ร้อยละ 80 อยู่ในระดับมากที่สุด ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ด้านความพึงพอใจของนักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด และ(4) การประเมินรูปแบบการสอนโดยผู้บริหารและครูมีความเห็นว่ารูปแบบการสอน มีความเหมาะสมเห็นด้วยอยู่ในระดับมากที่สุด ในด้านความมีประโยชน์ มีความสมบูรณ์ และมีความชัดเจน
คำสำคัญ รูปแบบ การสอนแบบอิงประสบการณ์ การสอนด้วยแหล่งการเรียนรู้ในชุมชน กระบวนการทำงานกลุ่ม กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ประถมศึกษา