ชื่อผลงาน การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
หน่วยการเรียนรู้ เรื่อง ระบบสุริยะ ด้วยการเรียนรู้แบบ Active Learning
ชื่อผู้วิจัย รัชนี รอดถนน
สถานศึกษา โรงเรียนเทศบาล 4 (วัดมัชฌิมภูมิ) อำเภอเมือง จังหวัดตรัง
ปีที่พิมพ์ 2561
บทคัดย่อ
การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 หน่วยการเรียนรู้ เรื่อง ระบบสุริยะ ด้วยการเรียนรู้แบบ Active Learning โรงเรียนเทศบาล 4 (วัดมัชฌิมภูมิ) มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) หาประสิทธิภาพของแผนการจัดการเรียนรู้ที่ใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เรื่อง ระบบสุริยะ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ตามเกณฑ์ 80/80 2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง ระบบสุริยะ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ระหว่างก่อนและหลังใช้แผนการจัดการเรียนรู้ที่ใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning 3) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้แผนการจัดการเรียนรู้ที่ใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เรื่อง ระบบสุริยะ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ ประชากรนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาล 4 (วัดมัชฌิมภูมิ) เทศบาลนครตรัง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 1 ห้องเรียน นักเรียนทั้งหมดจำนวน 24 คน โดยการเลือกแบบเจาะจง เนื่องจากนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีเพียงห้องเรียนเดียว แบบแผนการศึกษา เป็นการศึกษาแบบกลุ่มเดียว สอบก่อนและหลัง (One Group Pretest-Posttest Design) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ 1) แผนการจัดการเรียนรู้ที่ใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เรื่อง ระบบสุริยะ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 12 แผนการจัดการเรียนรู้ เวลา 15 ชั่วโมง 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เรื่อง ระบบสุริยะ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 3) แบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เรื่อง ระบบสุริยะ โดยแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ด้านสาระการเรียนรู้ ด้านกระบวนการเรียนรู้ ด้านสื่อและอุปกรณ์การเรียนรู้ ด้านการวัดผลและประเมินผล จำนวน 20 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ประกอบด้วย ร้อยละ ค่าเฉลี่ย (µ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (σ) และสถิติทดสอบที (t – test) ผลการศึกษา พบว่า
1. การหาประสิทธิภาพของแผนการจัดการเรียนรู้ที่ใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เรื่อง ระบบสุริยะ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาล 4 (วัดมัชฌิมภูมิ) มีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 87.70/81.04
2. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่เรียนด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ที่ใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เรื่อง ระบบสุริยะ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้แผนการจัดการเรียนรู้ที่ใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เรื่อง ระบบสุริยะ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด