แบบรายงานนวัตกรรม/วิธีการปฏิบัติที่ดี (Best Practices)
ประเภทของนวัตกรรม/วิธีการปฏิบัติที่เลิศ โรงเรียนที่มีระบบการนิเทศภายใน
ชื่อวิธีการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) การนิเทศการจัดการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมชุมชนแห่งการเรียนรู้ (PLC)และกระบวนการสอนแบบ Active learning โดยใช้วงจรคุณภาพ PDCA
โรงเรียนจอมพระประชาสรรค์ อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์
ชื่อ สกุล ผู้บริหารสถานศึกษา นายสฤษดิ์ วิวาสุขุ
จำนวนครูทั้งหมด 99 คน จำนวนนักเรียนทั้งหมด 1,904 คน
1. ความสำคัญของนวัตกรรม/วิธีการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices)
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่2) พุทธศักราช
2545 มาตรา 10 ที่ระบุว่า การจัดการศึกษาต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย นอกจากนี้แล้วในมาตรา 22 ยังระบุถึงหลักการจัดการศึกษาว่า ผู้เรียนทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ ต้องจัดการศึกษาที่พัฒนาผู้เรียนตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ ดังนั้นครูทุกคนจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแสวงหาวิธีการที่จะช่วยให้นักเรียนทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติดังกล่าว
ในช่วงของศตวรรษที่ 21 และการก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 การจัดการศึกษาต้องมีการปรับเปลี่ยนบทบาทของครูและผู้เรียนเพื่อให้สอดรับกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งการจัดการเรียนการสอนต้องเน้นให้ผู้เรียนมีทักษะการเรียนรู้ (Learning Skill) การใช้เทคโนโลยี และสร้างสรรค์นวัตกรรม และเน้นให้ผู้เรียนได้สร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง โดยครูมีหน้าที่เพียงเป็นผู้ชี้แนะ และสร้างแรงบันดาลใจ (วิจารณ์ พานิช, 2555) ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวคิด Teach Less, Learn More (TLLM) ผู้สอนต้องสอนให้น้อยลงหรือ Teach Less แต่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้มากขึ้น (เวชฤทธิ์ อังกนะภัทร, 2554) และยังสอดรับกับการบริหารงานวิชาการสมัยใหม่ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญในการสร้างความรู้ด้วยตนเอง โดยผู้บริหาร ครูและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีส่วนส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน ( G sue Shannon& Pete Bylsma, 2004)
ครูจึงมีบทบาทและความจำเป็นที่ต้องแสวงหาวิธีการที่จะช่วยให้นักเรียนทุกคนสามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพ และรู้จักสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพของครู (Professional Learning Community (PLC)) ก็ถือว่ามีความสำคัญที่จะช่วยพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอน และการเรียนรู้ของผู้เรียนได้เป็นอย่างดีรวมถึงพัฒนาศักยภาพของครูได้อีกด้วย เนื่องจาก PLC เป็นการรวมตัว ร่วมใจร่วมพลัง ร่วมทำ และร่วมเรียนรู้ร่วมกันของครู ผู้บริหาร และนักการศึกษา บนพื้นฐานวัฒนธรรมความสัมพันธ์แบบกัลยาณมิตร มีวิสัยทัศน์ คุณค่า เป้าหมาย และภารกิจร่วมกัน โดยทำงานร่วมกันแบบทีม เรียนรู้ที่ครูเป็นผู้นำร่วมกัน และผู้บริหารเป็นผู้ดูแลสนับสนุน ซึ่งพบว่าข้อดีของการนำ PLC ไปใช้ ต่อครูผู้สอน และนักเรียน ได้แก่ ผลดีต่อครูผู้สอน คือ เพิ่มความรู้สึกผูกพันต่อพันธกิจและเป้าหมายของโรงเรียน โดยเพิ่มความกระตือรือร้นที่จะปฏิบัติให้บรรลุพันธกิจและเป้าหมาย โดยอาศัยความร่วมมือจากทีมการเรียนรู้ ผลดีต่อผู้เรียน คือ เพิ่มศักยภาพจากการเรียนรู้ตามความสนใจ สามารถลดอัตราการตกซ้ำชั้นและจำนวน
ชั้นเรียนที่ชะลอการจัดการเรียนรู้ให้น้อยลง ซึ่ง PLC ถูกกำหนดเป็นนโยบายกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน และมีเงื่อนผูกไปยังการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะอันเป็นความก้าวหน้าของครูผู้สอน จึงถือเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมในการพัฒนาคุณภาพครูและผู้เรียน
การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ Active Learning เป็นอีกวิธีการที่ส่งเสริมผู้เรียนให้สามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง และพัฒนาศักยภาพของครู เนื่องจากเป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้ลงมือกระทำและได้ใช้กระบวนการคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เขาได้กระทำลงไป (Bonwell, 1991) เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภายใต้สมมติฐานพื้นฐาน 2 ประการคือ 1) การเรียนรู้เป็นความพยายามโดยธรรมชาติของมนุษย์, และ 2) แต่ละบุคคลมีแนวทางในการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน (Meyers and Jones, 1993) โดยผู้เรียนจะถูกเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับความรู้(receive) ไปสู่การมีส่วนร่วมในการสร้างความรู้(co-creators) ( Fedler and Brent, 1996) ซึ่งถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีความหมาย โดยการร่วมมือระหว่างผู้เรียนด้วยกัน ในการนี้ ครูต้องลดบทบาทในการสอนและการให้ข้อความรู้แก่ผู้เรียนโดยตรงลง แต่ไปเพิ่มกระบวนการและกิจกรรมที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้นในการจะทำกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น และอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยการพูด การเขียน การอภิปรายกับเพื่อนๆ
ในการกำกับติดตามเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ต่อเนื่องในการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ (PLC) และการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ Active learning นั้นการนิเทศกำกับติดตามถือเป็นส่วนสำคัญ ซึ่งการนิเทศการสอนมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาครูให้มีความรู้เข้าใจในการจัดการเรียนการสอนให้บรรลุจุดประสงค์และเป้าหมายของหลักสูตร เนื่องจากการนิเทศสามารถพัฒนาคุณภาพของครู เพราะการนิเทศจะมีการให้ข้อมูลแก่ครูในด้านการเรียนการสอน เพื่อครูจะได้ใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงการเรียนการสอนของตนเอง ช่วยให้ครูได้พัฒนาความรู้ ความสามารถในด้านการเรียนการสอน และสามารถพัฒนาคุณภาพของนักเรียน เนื่องจากครูมีการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนอยู่ตลอดเวลา (ปรียาภรณ์ วงศ์อนุตรโรจน์, 2546) จึงถือได้ว่าการนิเทศติดตามการจัดการเรียนการสอนมีความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพของครูและนักเรียน
จากหลักการและประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นในฐานะผู้บริหารสถานศึกษาจึงมีความจำเป็นที่ต้องพัฒนาศักยภาพครูและนักเรียน จึงมีความสนใจที่จะใช้การนิเทศภายในสถานศึกษาเป็นนวัตกรรมในการส่งเสริมชุมชนแห่งการเรียนรู้ของครู(PLC) และกระบวนการเรียนการสอนที่เน้น Active learning เพื่อพัฒนาคุณภาพครูและผู้เรียนให้สอดรับกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และนโยบายกระทรวงศึกษาธิการที่เน้นให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง และครูมีการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อให้ผู้เรียนมีศักยภาพรองรับการเป็นบุคคลในศตวรรษที่ 21 และประเทศไทยยุค 4.0 โดยใช้วงจรคุณภาพ PDCA เข้ามาบริหารจัดการให้การนิเทศภายในเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด