ชื่อเรื่อง รายงานผลการจัดประสบการณ์ด้วยหนังสือเสริมประสบการณ์เพื่อพัฒนาทักษะ
ทางภาษา ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนเทศบาล ๑ (ขจรเนติยุทธ)
จังหวัดปทุมธานี
ผู้วิจัย นางนุชนารถ รัตนดร ตำแหน่งครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนเทศบาล ๑ (ขจรเนติยุทธ) เทศบาลเมืองลำสามแก้ว อำเภอลำลูกกา
จังหวัดปทุมธานี
ปีที่วิจัย พ.ศ. 2560
บทคัดย่อ
รายงานผลการจัดประสบการณ์ด้วยหนังสือเสริมประสบการณ์เพื่อพัฒนาทักษะทางภาษาของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนเทศบาล ๑ (ขจรเนติยุทธ) จังหวัดปทุมธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) เพื่อสร้างและพัฒนาหนังสือเสริมประสบการณ์เพื่อพัฒนาทักษะทางภาษาของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ให้มีประสิทธิภาพ 75/75 (2) เพื่อเปรียบเทียบทักษะทางภาษาของนักเรียนชั้นอนุบาล ปีที่ 2 ก่อนและหลังการจัดประสบการณ์ด้วยหนังสือเสริมประสบการณ์และ (3) เพื่อศึกษาทักษะทางภาษาของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ที่ได้รับการจัดประสบการณ์ด้วยหนังสือเสริมประสบการณ์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนเทศบาล ๑ (ขจรเนติยุทธ) เทศบาลเมืองลำสามแก้ว อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 38 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า ได้แก่ (1) หนังสือเสริมประสบการณ์สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 จำนวน 10 เล่ม (2) แผนการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์ด้วยหนังสือเสริมประสบการณ์ สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 มีทั้งหมด 50 แผน 10 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที (3) แบบประเมินทักษะทางภาษาด้านการฟัง การพูด การอ่านและการเขียนของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 จำนวน 20 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติทดสอบ t-test
ผลการวิจัยเรื่อง การจัดประสบการณ์ด้วยหนังสือเสริมประสบการณ์เพื่อพัฒนาทักษะ
ทางภาษา ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนเทศบาล ๑ (ขจรเนติยุทธ) จังหวัดปทุมธานี สามารถสรุปผลการวิจัยได้ดังนี้
1. ประสิทธิภาพของหนังสือเสริมประสบการณ์เพื่อพัฒนาทางภาษา มีประสิทธิภาพเท่ากับ 82.73/83.42 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้
2. นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ที่ได้รับการจัดประสบการณ์ด้วยหนังสือเสริมประสบการณ์เพื่อพัฒนาทักษะทางภาษา โดยจำแนกเป็นรายด้าน ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการฟัง ด้านการพูด ด้านการอ่านและด้านการเขียน ก่อนการทดลองและหลังการทดลองแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 มีทักษะทางภาษาหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
3. ผลการจัดประสบการณ์ด้วยหนังเสริมประสบการณ์เพื่อพัฒนาทักษะทางภาษา พบว่า หลังการจัดประสบการณ์ด้วยหนังสือเสริมประสบการณ์นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 มีทักษะทางภาษา ได้เหมาะสมกับวัยของตัวเอง