ชื่อผลงาน : รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐานร่วมกับการใช้ผังกราฟิกเพื่อส่งเสริม
ความสามารถในการคิดแก้ปัญหาและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์
ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
ผู้จัดทำ : นางสายยนต์ สิงหศรี โรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา อำเภอเมืองขอนแก่น
จังหวัดขอนแก่น สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น
ปีที่จัดทำ : พ.ศ. 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐานร่วมกับการใช้ผังกราฟิก เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่1 2) ศึกษาความสามารถในการคิดแก้ปัญหาและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ และ 3) ศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบ การจัดการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐานร่วมกับการใช้ผังกราฟิก เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่1
การดำเนินการวิจัย มี 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การวิเคราะห์(Analysis) โดยการวิเคราะห์ข้อมูลที่ใช้พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ ระยะที่ 2 การออกแบบและการพัฒนา(Design and Development) การดำเนินการแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ 1) การออกแบบรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐานร่วมกับการใช้ผังกราฟิก 2) การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ คู่มือ การใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐานร่วมกับการใช้ผังกราฟิก แผนการจัดการเรียนรู้ และเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ระยะที่ 3 การนำไปใช้ (Implementation) โดยการนำการจัดการเรียนรู้ไปทดลองใช้จริงกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่1 โรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา
ตำบลบ้านหว้า อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ปีการศึกษา 2560 จำนวน 83 คน ทำการสุ่มนักเรียนโดยวิธีการสุ่มแบบแบ่งกลุ่ม (cluster Random Sampling) เป็นกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองระยะเวลาในการทดลอง 10 สัปดาห์ รวม 30 ชั่วโมง เครื่องมือวิจัย คือ แบบทดสอบความสามารถในการคิดแก้ปัญหาและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการทดสอบค่าที (t-test) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วม(Analysis of Covariance) ระยะที่ 4 การประเมิน (Evaluation) การดำเนินการแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ 1) การประเมินระหว่างการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ และ 2) การประเมินหลังการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้
ผลการวิจัย
1. รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น ประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ คือ
1) หลักการ 2) จุดมุ่งหมาย 3) กระบวนการจัดการเรียนรู้ และ 4) การวัดและประเมินผล กระบวนการจัดการเรียนรู้ ประกอบด้วย 7 ขั้นตอน คือ 1) ทำความเข้าใจคำศัพท์และข้อความที่ปรากฏอยู่ในปัญหาให้ชัดเจน 2) ระบุปัญหา 3) วิเคราะห์ปัญหา 4) ตั้งสมมติฐาน 5) กำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้ 6) ศึกษาค้นคว้ารวบรวมข้อมูลสารสนเทศ และ 7) สรุปรายงานผลโดยใช้ ผังกราฟิก มีประสิทธิผล .50 และมีประสิทธิภาพ 80.37/81.04
2. ผลการทดลองที่ใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น พบว่า นักเรียนกลุ่มทดลอง มีคะแนนเฉลี่ยความสามารถในการคิดแก้ปัญหาและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ หลังการทดลองสูงกว่าการทดลอง และสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการเรียนรู้ที่ใช้รูปแบบรูการจัดการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐานร่วมกับการใช้ผังกราฟิก เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาและผลสัมฤทธิ์ทาง การเรียนวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่1 ในภาพรวมเห็นด้วยระดับมาก มีค่าเฉลี่ย ( ) เท่ากับ 4.67 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) เท่ากับ 0.52