บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
เรื่อง : รายงานผลการประเมินโครงการพัฒนางานโรงเรียนวิถีพุทธ โรงเรียนบ้านถ้ำ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3
หน่วยงาน : โรงเรียนบ้านถ้ำ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3
ผู้รายงาน : นายปรีชา กาวิใจ
ปีที่พิมพ์ : 2561
.
การรายงานครั้งนี้ เป็นการรายงานผลการประเมินโครงการพัฒนาโรงเรียนวิถีพุทธโรงเรียนบ้านถ้ำ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 โดยประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมินตาม CIPPIEST Model เสนอโดย แดเนียล แอล สตัฟเฟลบีม (Daniel L. Stufflebeam) มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการพัฒนาโรงเรียนวิถีพุทธ ด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้าด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต ซึ่งด้านผลผลิตประกอบด้วยส่วนขยายด้านผลกระทบ ประสิทธิผล ความยั่งยืน และการถ่ายทอดส่งต่อ กลุ่มประชากรที่ให้ข้อมูลในการศึกษาครั้งนี้ ประกอบด้วย ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 217 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการประเมิน พบว่า
1.ผลการประเมินบริบทของโครงการ พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายข้อค่าเฉลี่ยสูงสุด 2 อันดับแรก ได้แก่โครงการมีความสอดคล้องกับเอกลักษณ์ของโรงเรียนบ้านถ้ำและโรงเรียนได้กำหนดหลักการและเหตุผลในการจัดกิจกรรมโรงเรียนวิถีพุทธไว้อย่างชัดเจนตามลำดับ
2.ผลการประเมินปัจจัยป้อนเข้าของโครงการ พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด และเมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า มีปัจจัยป้อนเข้าทุกด้านอยู่ในระดับมากที่สุดเช่นกัน โดยด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ซึ่งครูผู้สอนและคณะกรรมการสถานศึกษามีความคิดเห็นสอดคล้องกันคือ ด้านบุคลากร และด้านวัสดุ อุปกรณ์ สถานที่
3. ผลการประเมินกระบวนการของโครงการ พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด และเมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ทุกด้านอยู่ในระดับมากที่สุดเช่นกัน โดยครูเห็นว่ากระบวนการด้านการประเมินผล ปรับปรุง พัฒนา และเผยแพร่ผลการดำเนินงาน มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ส่วนนักเรียนเห็นว่า กระบวนการด้านการวางแผนการดำเนินงาน มีค่าเฉลี่ยสูงสุด
4. ผลการประเมินผลผลิตของโครงการ ตามส่วนขยายของผลผลิต ดังนี้
4.1 ผลกระทบของโครงการ พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด และเมื่อพิจารณารายข้อตามความคิดเห็นของครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เห็นว่าวัดได้ศาสทายาทและกำลังช่วยงานส่งเสริมพระพุทธศาสนามากขึ้น มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ส่วนนักเรียนและผู้ปกครองเห็นว่า ชุมชนมีความสงบสุขเป็นสังคมคุณภาพเอื้ออาทรและสมานฉันท์ สามัคคีในการพัฒนาชุมชนให้เจริญ มีค่าเฉลี่ยสูงสุด
4.2 ประสิทธิผลของโครงการ พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด และเมื่อพิจารณารายด้านพบว่าทุกด้านอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณาตามความคิดเห็นของครูและคณะกรรมการสถานศึกษาเห็นว่า ประสิทธิผลด้านการพัฒนาทางสังคม โดยนักเรียนไม่ทุจริตในการสอบมีค่าเฉลี่ยสูงสุด ส่วนนักเรียนและผู้ปกครองเห็นว่า ประสิทธิผลด้านการพัฒนาทางจิต โดยนักเรียนมีความรัก ความหวังดีต่อผู้อื่นเสมอ มีค่าเฉลี่ยสูงสุด
4.3 ความยั่งยืนของโครงการ พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด และเมื่อพิจารณารายข้อตามความคิดเห็นของครู คณะกรรมการสถานศึกษา นักเรียน และผู้ปกครองมีความเห็น ที่สอดคล้องกัน คือ โรงเรียนวิถีพุทธเป็นอัตลักษณ์ที่สำคัญของสถานศึกษา มีค่าเฉลี่ยสูงสุด
4.4 การถ่ายโยงความรู้ของโครงการ พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด และเมื่อพิจารณารายข้อตามความคิดเห็นของครูและคณะกรรมการสถานศึกษาเห็นว่า มีการเผยแพร่วิธีการปฏิบัติการดำเนินกิจกรรมตามโครงการโรงเรียนวิถีพุทธให้กับหน่วยงานอื่นมีค่าเฉลี่ยสูงสุด ส่วนนักเรียนและผู้ปกครองเห็นว่า มีผู้มาศึกษาดูงานการดำเนินงานกิจกรรมตามโครงการโรงเรียนวิถีพุทธอย่างต่อเนื่อง มีค่าเฉลี่ยสูงสุด
ข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะในการนำผลการประเมินไปใช้
1. ควรมีการเตรียมความพร้อมก่อนการพัฒนาโครงการทั้งด้านเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียนวิถีพุทธ บุคลากร การกำหนดเป้าหมาย รวมทั้งจัดสภาพกายภาพให้เอื้อต่อการดำเนินงานโครงการ
2. ควรให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานโครงการดูแลสนับสนุนในทุกขึ้นตอน อย่างใกล้ชิดเพื่อช่วยให้การดำเนินการทุกส่วนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพด้วยท่าทีที่เป็นกัลยาณมิตร
3. ควรจัดกิจกรรมกระบวนการพัฒนาผู้เรียนอย่างหลากหลายเพื่อให้นักเรียนรู้จักคิด มีการฝึกปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอทั้งด้านศีล สมาธิ และปัญญา
ข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัยประเมินในครั้งต่อไป
1. ควรมีการวิจัยประเมินผลด้วยวิธีเชิงคุณภาพ โดยเน้นการดำเนินการวิจัยเชิงลึกด้วยการสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม เพื่อให้ได้ข้อมูลสารสนเทศเชิงลึกที่ทำให้ผลการประเมินมีความชัดเจนยิ่งขึ้น
2. ควรมีการศึกษาเปรียบเทียบสภาพปัญหา และการดำเนินงานโรงเรียนวิถีพุทธในบริบทโรงเรียนที่มีขนาดแตกต่างกัน
3. ควรมีการศึกษารูปแบบการบริหารงานโรงเรียนวิถีพุทธต้นแบบ ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อเป็นรูปแบบสำหรับโรงเรียนทั่วไปที่จะพัฒนาโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนวิถีพุทธต้นแบบต่อไป