บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้ซิปปาโมเดล (CIPPA MODEL) ในวิชาภาษาอังกฤษ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เรื่อง การอ่านจับใจความสำคัญโดยใช้นิทานเป็นสื่อ โรงเรียนสตรีชัยภูมิ 2 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 2) เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วิชา ภาษาอังกฤษ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/1 ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 75 ให้มีนักเรียนร้อยละ 80 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนร้อยละ 75 ขึ้นไป 3) เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่มีต่อการเรียน วิชาภาษาอังกฤษโดยใช้ซิปปาโมเดล (CIPPA MODEL) กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัย เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/1 โรงเรียนสตรีชัยภูมิ 2 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 31 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย แบ่งเป็น 3 ประเภท 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ ที่ใช้รูปแบบ (CIPPA MODEL) เรื่อง การอ่านจับใจความสำคัญโดยใช้นิทานเป็นสื่อ โดยใช้ซิปปาโมเดล (CIPPA MODEL) จำนวน 16 แผนการจัดการเรียนรู้ 2) เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติ ได้แก่ แบบบันทึกสังเกตการณ์จัดกิจกรรมการเรียนการสอน แบบบันทึกผลการใช้แผนการจัดการเรียนรู้ แบบสัมภาษณ์นักเรียน แบบฝึกหัด แบบทดสอบย่อยท้ายวงจร ผลงานนักเรียน แบบแสดงความคิดเห็น 3) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพของรูปแบบการสอน ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ซึ่งมีค่าความเชื่อมั่น (KR 20) 0.84
รูปแบบที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ใช้เทคนิคการวิจัยเชิงปฏิบัติการของ Kemmis & Mataggart (1992) ซึ่งมีวงจรปฏิบัติการ 4 วงจร คือ วงจรปฏิบัติที่ 1 ประกอบด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ 1-4 วงจรปฏิบัติที่ 2 ประกอบด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ที่ 5 - 8 วงจรปฏิบัติที่ 3 ประกอบด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ที่ 9-12 และวงจรที่ 4 ประกอบด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ที่ 13-16 ขั้นตอนการดำเนินการวิจัย ดังนี้ คือ ขั้นวางแผนและผู้ช่วยวิจัยร่วมกันศึกษาสภาพปัญหา ศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องและสร้างแผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ซิปปาโมเดล ขั้นปฏิบัติการ ผู้วิจัยดำเนินการสอนตามแผนการจัดการเรียนรู้ที่วางไว้ ขั้นสังเกตการณ์ครูผู้ช่วยวิจัยสังเกตและรวบรวมข้อมูลจาการเรียนการสอน โดยใช้แบบบันทึกเหตุการณ์ขณะสอนของครูและแบบบันทึกเหตุการณ์ขณะเรียนของนักเรียน นักเรียนบันทึกความคิดเห็น จากการเรียนการสอนและผู้วิจัยสัมภาษณ์นักเรียน ขั้นสะท้อนผลการปฏิบัติผู้ช่วยวิจัยนำข้อมูลที่ได้จากขั้นสังเกตการณ์มาวิเคราะห์ เพื่อปรับปรุงแผนการจัดการเรียนรู้ที่จะสอนในครั้งต่อไปให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เมื่อสิ้นสุดการดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนแต่ละวงจร นักเรียนทำแบบทดสอบย่อยเพื่อประเมินความก้าวหน้า และสิ้นสุดการเรียนการสอน นักเรียนทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนการสะท้อนผลการปฏิบัติที่ผู้วิจัยและผู้ช่วยวิจัยนำข้อมูลที่ได้จากการบันทึก สังเกต สัมภาษณ์ และผลงานของนักเรียน นำมาวิเคราะห์ข้อมูลโดยนำข้อมูลจาก การสัมภาษณ์และการเขียนแสดงความคิดเห็นของผู้ช่วยวิจัยมาวิเคราะห์ตีความ สรุปและตรวจสอบแล้วรายงานผลในลักษณะการบรรยาย และหาค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละของคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
ผลการวิจัย
1. การพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้ซิปปาโมเดล (CIPPA MODEL) เรื่อง การอ่านจับใจความสำคัญโดยใช้นิทานเป็นสื่อ มีหลักการและเป้าหมายให้ผู้เรียนเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ ในการเรียนรู้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้อย่างตื่นตาตื่นใจ มีส่วนร่วมทางด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคม กิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลและสิ่งแวดล้อมรอบตัว จากกิจกรรมการเรียนการสอน พบว่า ผู้เรียนสามารถสรุปข้อความสำคัญ มีความเข้าใจ สามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง นำประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของตนเองมาสัมพันธ์กับวิชาภาษาอังกฤษที่เรียนได้ รวมถึงเรียนรู้การวางแผนการแก้ปัญหา กระบวนการทำงาน ตลอดจนการสร้างสรรค์ผลงานและการนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ และเกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการเรียนรู้ภายใต้บรรยากาศที่ส่งเสริมให้นักเรียนมีความสามารถในการใช้กระบวนการคิดของตนเองแก้ปัญหา ซึ่งรูปแบบการเรียนการสอน เรื่อง การอ่านจับใจความสำคัญโดยใช้นิทานเป็นสื่อ โดยใช้ซิปปาโมเดล (CIPPA MODEL) ประกอบด้วย 6 ขั้น คือ 1) ขั้นนำ/ทบทวนความรู้เดิม 2) ขั้นการแสวงหาความรู้ใหม่ และเชื่อมโยงกับความรู้เดิม 3) ขั้นแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจภายในกลุ่ม 4) ขั้นสรุปและจัดระเบียบความรู้ 5) ขั้นแสดงผลงาน 5) ขั้นการประยุกต์ใช้ความรู้
2. พฤติกรรมการเรียนการสอนโดยใช้ซิปปาโมเดล (CIPPA MODEL) กับการใช้หลักการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ช่วยให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนอย่างทั่วถึงและเป็นผู้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเอง นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการอภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน นักเรียนสามารถสรุปข้อความ เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง กล้าแสดงออก มีความมั่นใจในตนเอง เกิดทักษะในการแก้ปัญหา รู้จักยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น นักเรียนมีความกระตือรือร้น สนใจและสนุกกับการเรียน เข้าใจเนื้อหาได้อย่างลึกซึ้งและจดจำได้ดี นักเรียนเกิดการเรียนรู้จากการทำงานแก้ปัญหาด้วยตนเอง การคิดแก้ปัญหาแบบคู่คิด และการคิดแก้ปัญหาภายในกลุ่ม
3. พฤติกรรมด้านการทำงาน พบว่า นักเรียนสามารถทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข มีความสนุกในการเรียน เกิดทักษะอยากรู้อย่างเห็น สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ มีการร่วมมือวางแผนในการทำงาน มีการแบ่งงาน ทำให้นักเรียนทุกคนมีบทบาทหน้าที่ในการทำงานร่วมกัน มีความรับผิดชอบต่อตนเองและส่วนรวม นักเรียนได้ร่วมกันวิเคราะห์และอภิปรายแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดและความรู้สึกต่อกัน ทำให้นักเรียนได้เกิดความเข้าใจในตนเองและผู้อื่น นักเรียนได้รับความรู้ทั้งด้านเนื้อหาสาระและกระบวนการทำงานร่วมกัน และการนำเสนอผลงาน การรู้จักวิเคราะห์และวิจารณ์ผลงานอย่างมีเหตุผล การเป็นส่วนหนึ่งของผลงานทำให้เกิดความภาคภูมิใจ และการสร้างสรรค์ผลงานที่แปลกใหม่
4. คุณลักษณะที่พึงประสงค์ นักเรียนที่ได้รับการเรียนการสอนโดยใช้ซิปปาโมเดล (CIPPA MODEL) เรื่อง การอ่านจับใจความสำคัญโดยใช้นิทานเป็นสื่อ เกิดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ได้แก่ การสร้างความรู้ความเข้าใจด้วยตนเอง มีวิธีการคิดและการแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล เกิดทักษะการทำงานกลุ่ม เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มีความเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี มีความเชื่อมั่นในตนเอง กล้าแสดงออกและตัดสินใจอย่างมีเหตุผล มีกระบวนการจัดการในการทำงานที่ดี มีความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อกลุ่ม มีน้ำใจในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
5. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน นักเรียนที่ได้รับการเรียนการสอนโดยใช้ซิปปาโมเดล (CIPPA MODEL) ในวิชา ภาษาอังกฤษ เรื่อง การอ่านจับใจความสำคัญโดยใช้นิทานเป็นสื่อ พบว่า มีค่าเฉลี่ยของคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน คิดเป็นร้อยละ 84.63 สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดร้อยละ 75 และมีนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์การเรียนรู้ดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 80.65 ซึ่งสูงกว่า จำนวนนักเรียนที่กำหนดร้อยละ 80