ชื่อเรื่องการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานผสมผสานการคิดแก้ปัญหา เรื่อง ภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติของโลกชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
ชื่อผู้วิจัย นายพงษ์ศักดิ์ ไชยศรีจันทร์ ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ พิเศษ
สถานศึกษา โรงเรียนเสือโก้กวิทยาสรรค์ อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม
สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม
ปีที่พิมพ์ 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานผสมผสานการคิดแก้ปัญหา เรื่อง ภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติของโลกชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานผสมผสานการคิดแก้ปัญหาเรื่อง ภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติของโลกชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน 3) เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกับความสามารถในการคิดแก้ปัญหาของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียนโดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานผสมผสานการคิดแก้ปัญหากลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 2ปีการศึกษา2559 โรงเรียนเสือโก้ก วิทยาสรรค์อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม ได้มาจากการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) จำนวน 1 ห้องเรียน จำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย 1) แผนการจัดการเรียนรู้ ตามรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานผสมผสานการคิดแก้ปัญหา เรื่อง ภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติของโลกชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 3) แบบทดสอบวัดความสามารถในทางคิดแก้ปัญหา สถิติที่ใช้ ได้แก่ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติทดสอบค่าทีแบบไม่อิสระ (t-test dependent) และ สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน (rxy)
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานผสมผสานการคิดแก้ปัญหา เรื่อง ภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติของโลกชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีชื่อว่าPUAPATKS Model จากการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ รูปแบบการจัดการเรียนรู้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกันทุกองค์ประกอบ รูปแบบการจัดการเรียนรู้มี 8 องค์ประกอบ คือ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการจัดการเรียนรู้ หลักการตอบสนอง ระบบสังคม สิ่งสนับสนุน สาระความรู้ และสิ่งส่งเสริมการเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้มี 8 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1) ขั้นกำหนดปัญหา (Problem setting: P) 2) ขั้นวิเคราะห์ทำความเข้าใจปัญหา(Understand the problem: U) 3) ขั้นตั้งสมมติฐาน (Assume: A) 4) ขั้นวางแผนการดำเนินการแก้ปัญหา (Plan a solution: P) 5) ขั้นวิเคราะห์วิธีการแก้ปัญหา (Analyzing the problem solving: A) 6)ขั้นดำเนินการแก้ปัญหาและทดสอบสมมติฐาน (Take action and test hypothesis: T) 7) ขั้นสังเคราะห์ความรู้ (Knowledge synthesis: K)8) ขั้นสรุปผลและประเมินค่าคำตอบ (Summarize and evaluation: S) และค่าประสิทธิภาพ(E1/E2) ของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ เท่ากับ 86.49/83.67เมื่อเทียบกับเกณฑ์ 80/80 ปรากฏว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานผสมผสานการคิดแก้ปัญหา เรื่อง ภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติของโลกชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5ก่อนเรียนและหลังเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกับความสามารถในการคิดแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 วิชาสังคมศึกษา เรื่อง ภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติของโลกที่เรียนโดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานผสมผสานการคิดแก้ปัญหา มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.01