ชื่อเรื่อง รายงานการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการคิดวิเคราะห์
ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เรื่อง อาหารหรือสารเสพติด โดยใช้การสอน
ตามแนวคิดวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสังคม (STS)
ผู้วิจัย นางสาวนุทนาถ เจนวิพากษ์ ตำแหน่งครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ
โรงเรียนเทศบาล 3 บ้านเหล่า เทศบาลนครอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี
ปีที่วิจัย พ.ศ. 2560
บทคัดย่อ
รายงานการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เรื่อง อาหารหรือสารเสพติด โดยใช้การสอนโรงเรียนเทศบาล 3 บ้านเหล่าเทศบาลนครอุดรธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง อาหารและสารเสพติดของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่ได้รับการสอนตาม แนวคิดวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสังคม (STS) 2) เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง อาหารและสารเสพติด ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่ได้รับการสอนตาม แนวคิดวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสังคม (STS) และ 3) เพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่ได้รับการสอนตามแนวคิดวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสังคม (STS) กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนเทศบาล 3 บ้านเหล่า เทศบาลนครอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี จำนวนนักเรียนทั้งหมด 28 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองปฏิบัติ ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ ในรายวิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง อาหารและสารเสพติด ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่สอนตามแนวคิดวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคม (STS) จำนวน 9 แผนการจัดการเรียนรู้ เวลา 18 ชั่วโมง 2) เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติ ได้แก่ แบบบันทึกประจำวันของครู แบบสังเกตการณ์สอนของครูผู้ช่วยวิจัย แบบสัมภาษณ์นักเรียนแบบทดสอบท้ายวงจร แบบสอบถามวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและแบบบันทึกกิจกรรม 3) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผลการวิจัย ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน มีความเชื่อมั่น 0.87 และแบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ มีความเชื่อมั่น 0.82 การวิจัยครั้งนี้ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ซึ่งมีวงจรปฏิบัติการ 3 วงจร การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและสรุปเป็นความเรียง
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถใน
การคิดวิเคราะห์ เรื่อง อาหารและสารเสพติด ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่ได้รับการสอนตามแนวคิดวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสังคม (STS) สรุปผลได้ ดังนี้
1.1 ขั้นระบุปัญหาของสังคม ช่วยพัฒนาผู้เรียนในด้านการคิดถึงปัญหาของสังคม เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการหาแนวทางแก้ปัญหา เพื่อให้ได้ความรู้ที่เป็นเหตุเป็นผล โดยใช้การวิเคราะห์จากบทความ ข่าว หรือภาพที่เป็นปัญหาของสังคม ขั้นนี้นักเรียนจะสนใจดีมากชอบอ่านบทความหรือข่าวมาก
1.2 ขั้นระบุศักยภาพในการหาคำตอบ ช่วยพัฒนาผู้เรียนในด้านการคิดการตั้งคำถามการใช้ภาษาที่เหมาะสม การแสดงความคิดเห็น การออกแบบวางแผนในการทำกิจกรรม นักเรียนแต่ละกลุ่มตั้งคำถามจากปัญหาที่ครูตั้งประเด็นหรือปัญหาจากการศึกษาบทความ หรือข่าวในแต่ละแผนการสอน จากการถามคำถามทำให้นักเรียนได้ฝึกการคิดการพูด กล้าแสดงออกมากขึ้น ซึ่งในแผนการสอนต้นๆ นักเรียนยังไม่สามารถตั้งคำถามได้ตรงประเด็นและไม่กล้าแสดงออก แต่เมื่อเรียนไปหลายแผน นักเรียนมีพัฒนาการที่ดีขึ้น
1.3 ขั้นต้องการความรู้ ช่วยพัฒนาผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของสถานการณ์ ที่ทำการทดลองไปสู่การแก้ปัญหาได้ ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่ทำได้และจะพัฒนาดีขึ้นเมื่อได้เรียนผ่านไปหลายแผนการสอน ในขั้นนี้ช่วยให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์มากยิ่งขึ้น สามารถนำปัญหามาวิเคราะห์อย่างมีเหตุมีผลมาสนับสนุนในประเด็นปัญหาที่ตั้งไว้ และนำความรู้มาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองไปในทางที่ดี นอกจากนี้ยังได้ฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์โดยการทดลองและฝึกการทำงานเป็นกลุ่ม
1.4 ขั้นทำการตัดสินใจ ช่วยพัฒนาผู้เรียนในด้านการแสดงความคิดเห็น
การอภิปราย การลงข้อสรุป การนำเสนอข้อมูล และช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นด้วยในขั้นนี้เป็นขั้นที่ทำได้ยาก ดังนั้นครูจะต้องคอยกระตุ้นและชี้แนะแนวทางให้แก่นักเรียนให้นักเรียนสามารถทำได้ เมื่อเรียนผ่านไปหลายแผนการจัดการเรียนรู้
1.5 ขั้นกระบวนการทางสังคม ช่วยพัฒนาผู้เรียนในด้านกระบวนการการนำความรู้ที่ตนเองได้รับไปสู่สังคม ไม่ว่าจะเป็นการประชาสัมพันธ์ การแจกใบปลิว การาแจกแผ่นพับ การจัดบอร์ด หรือแม้แต่การบอกเล่าปากต่อปาก ในขั้นตอนนี้นักเรียนทุกคนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคคลในสังคมให้สามารถวิเคราะห์ในการเลือกบริโภคอาหารเพื่อการดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย
2. การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง อาหารและสารเสพติด ของนักเรียนชั้น
มัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่ได้รับการสอนตาม แนวคิดวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสังคม (STS) พบว่า นักเรียนที่ผ่านเกณฑ์มีทั้งหมด 26 คน คิดเป็นร้อยละ 92.86 ผ่านเกณฑ์ที่ตั้งไว้ร้อยละ 70
3. การพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่ได้รับ
การสอนตามแนวคิดวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและ สังคม (STS) พบว่า นักเรียนที่ผ่านเกณฑ์มีทั้งหมด 25 คน คิดเป็นร้อยละ 89.29 ผ่านเกณฑ์ที่ตั้งไว้ร้อยละ 70