ชื่อผู้วิจัย : นางสาวลำจวน สีงาม
ชื่อเรื่อง : การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่องการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม
และความหลากหลายทางชีวภาพ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ปีการศึกษา : ภาคเรียนที่ 1/2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง มีวัตถุประสงค์ 4 ประการ คือ 1) เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน รายวิชา วิทยาศาสตร์พื้นฐาน เรื่อง การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนทับโพธิ์พัฒนวิทย์ โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ตามกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ที่มีประสิทธิภาพ 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนทับโพธิ์พัฒนวิทย์ ที่เรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ตามกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน 3) เพื่อหาค่าดัชนีประสิทธิผลจากการใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ตามกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนทับโพธิ์พัฒนวิทย์ และ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจในการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เรื่อง การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนทับโพธิ์พัฒนวิทย์ ที่เรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ตามกระบวนการสืบเสาะหาความรู้
กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการทดลอง คือ นักเรียนโรงเรียนทับโพธิ์พัฒนวิทย์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 24 คน ใช้เวลาในการทดลอง จำนวน 21 ชั่วโมง (ไม่รวมเวลาที่ใช้ในการทดสอบก่อนเรียน/หลังเรียน) เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 7 ชุด แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ จำนวน 4 ตัวเลือก จำนวน 40 ข้อ ซึ่งมีค่าความยากตั้งแต่ 0.44 ถึง 0.88 ค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 0.38 ถึง 1.26 และมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ เท่ากับ 0.6785 และ แบบสอบถามความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ จำนวน 15 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ เท่ากับ 0.9656 สถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ ค่า t (t-test for dependent Samples)
ผลการวิจัย สรุปได้ดังนี้
1. ผลการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน รายวิชา วิทยาศาสตร์พื้นฐาน เรื่อง การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนทับโพธิ์พัฒนวิทย์ โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ตามกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ที่มีประสิทธิภาพ จากการทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน มีค่าคะแนน 33.92 ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 84.79 จากคะแนนการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน เมื่อเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ ก่อนเรียน ไม่มีนักเรียนผ่านเกณฑ์ หลังเรียนนักเรียนทุกคนผ่านเกณฑ์ ร้อยละ 75 ขึ้นไป ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ ข้อที่ 1
2. ผลการเปรียบเทียบความแตกต่างของคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนทับโพธิ์พัฒนวิทย์ จังหวัดสุรินทร์ ปีการศึกษา 2560 ระหว่างก่อนเรียนกับหลังเรียน โดยใช้วิธีทางสถิติ t-test for dependent Samples ในกรณีกลุ่มตัวอย่างไม่เป็นอิสระจากกัน สรุปได้ดังนี้
ผลการเปรียบเทียบระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างก่อนเรียนกับหลังเรียน รายวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ พบว่า มีคะแนนเฉลี่ยก่อนเรียน เท่ากับ 11.42 คะแนนเฉลี่ยหลังเรียน เท่ากับ 33.92 เมื่อทดสอบด้วยค่าสถิติ t มีค่าเท่ากับ 37.57 ซึ่งจะเห็นได้ว่าค่าคะแนนเฉลี่ยหลังเรียนสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 แสดงให้เห็นว่า การเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ทำให้นักเรียนมีระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ข้อที่ 2
3. ผลการหาประสิทธิภาพและดัชนีประสิทธิผลของชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนทับโพธิ์พัฒนวิทย์ จังหวัดสุรินทร์
ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ผู้วิจัยได้พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพ 79.85/84.79 ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 75/75 และผลการศึกษาดัชนีประสิทธิผลของชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ มีค่าเท่ากับ 0.7968 นั่นคือ นักเรียนมีความก้าวหน้าทางการเรียนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 79.68 แสดงให้เห็นถึงระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนโดยการใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ สูงขึ้นจริง ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ข้อที่ 3
4. ผลการศึกษาความพึงพอใจต่อการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน รหัสวิชา ว23101 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนทับโพธิ์พัฒนวิทย์ จังหวัดสุรินทร์ ที่เรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ พบว่า โดยภาพรวมนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้อยู่ในระดับ มากที่สุด ( = 4.60, S.D.= 0.54) ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ข้อที่ 4