ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานเพื่อส่งเสริมทักษะการคิด
วิเคราะห์และพฤติกรรมตามค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ
สำหรับนักเรียน ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
ชื่อผู้วิจัย ชลธารา ถานิสโร
สาระการเรียนรู้ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
ปีการศึกษา 2560
สถานศึกษา โรงเรียนเทศบาลวัดกำแพง (อุดมพิทยากร)
เทศบาลเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานเพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์และพฤติกรรมตามค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ สำหรับนักเรียนระดับ ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ดำเนินการวิจัยโดยใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนา 4 ขั้นตอน ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาข้อมูลพื้นฐาน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ ครูผู้สอนรายวิชาหน้าที่พลเมือง โรงเรียนเทศบาลวัดกำแพง (อุดมพิทยากร) ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 13 คน ขั้นตอนที่ 2 การออกแบบและพัฒนา ตรวจสอบความเหมาะสมของรูปแบบโดยผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 10 คน และทดลองหาประสิทธิภาพของรูปแบบจากนักเรียนกลุ่มทดลองใช้เครื่องมือกลุ่มใหญ่ คือ นักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเทศบาลวัดกำแพง (อุดมพิทยากร) ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 36 คน ขั้นตอนที่ 3 การทดลองใช้โดยทดลองใช้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/1 โรงเรียนเทศบาลวัดกำแพง (อุดมพิทยากร) ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 38 คน ซึ่งได้มาจาก การสุ่มแบบแบ่งกลุ่ม และขั้นตอนที่ 4 การประเมินผลรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานฯ โดยประเมินความเป็นประโยชน์และความเป็นไปได้ของรูปแบบจากผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 10 คน และครูผู้สอนรายวิชาหน้าที่พลเมือง โรงเรียนเทศบาลวัดกำแพง (อุดมพิทยากร) ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 13 คน รวมจำนวน 23 คน ใช้ระยะเวลาในการทดลองรวมจำนวน 18 ชั่วโมง โดยใช้แบบแผนการวิจัยกึ่งทดลอง เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย 1) รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานเพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์และพฤติกรรมตามค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น 2) แผนการจัดการเรียนรู้ 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 4) แบบวัดทักษะการคิดวิเคราะห์ 5) แบบประเมินพฤติกรรมตามค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ และ 6) แบบสอบถามความพึงพอใจ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าประสิทธิภาพ E1/E2 และค่าสถิติ t-test dependent
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานเพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์และพฤติกรรมตามค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 7 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) หลักการ 2) เป้าหมาย 3) วัตถุประสงค์ 4) ปัจจัยนำเข้า (Input) ได้แก่ ผู้สอน ผู้เรียน เนื้อหา/กิจกรรม แหล่งเรียนรู้ ทรัพยากรการเรียนรู้ 5) กระบวนการจัดการเรียนรู้ PADEF Model (Process) 5 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่ 1 ขั้นรวบรวมข้อมูล (Preparing) ขั้นที่ 2 ขั้นคิดวิเคราะห์ (Analysis Thinking) ขั้นที่ 3 ขั้นปฏิบัติและสรุปความรู้ (Doing and Constructing the Knowledge) ขั้นที่ 4 ขั้นสื่อสารและนำเสนอ (Efficiency Communication) ขั้นที่ 5 ขั้นประเมินเพื่อเพิ่มคุณค่า (Finding Evaluation) 6) ปัจจัยนำออก (Output) ได้แก่ ด้านความรู้ (K) ด้านทักษะกระบวนการ (S) ด้านเจตคติ (A) และ 7) ข้อมูลป้อนกลับ (Feedback)
2. ผลการตรวจสอบรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานเพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์และพฤติกรรมตามค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่า ในภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานเพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์และพฤติกรรมตามค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น พบว่า รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานฯ มีค่าประสิทธิภาพ E1/E2 เท่ากับ 92.37/90.53 โดยสูงกว่าเกณฑ์ค่าประสิทธิภาพที่ได้กำหนดไว้ คือ 80/80 นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบที่พัฒนาขึ้น มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 นักเรียนมีทักษะการคิดวิเคราะห์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 นักเรียนมีพฤติกรรมตามค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการในภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด และนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานฯ อยู่ในระดับมากที่สุด
4. ผลการประเมินรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานเพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์และพฤติกรรมตามค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น พบว่า ในภาพรวมมีประโยชน์และมีความเป็นไปได้อยู่ในระดับมากที่สุด