งานวิจัยเรื่อง การพัฒนาทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ สาระเรขาคณิต โดยการจัดการเรียนรู้ แบบโครงงาน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
ผู้วิจัย นางสุมนต์ กีตา
ปีที่ทำการวิจัย 2559
บทคัดย่อ
การวิจัย การพัฒนาทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ สาระเรขาคณิต โดยการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ของการวิจัยเพื่อ 1) สร้างและพัฒนาแผนกจัดการเรียนรู้พัฒนาทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ สาระเรขาคณิต โดยการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ให้มีประสิทธิภาพที่ตามเกณฑ์ที่กำหนด 80/80 2) เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ สาระเรขาคณิต โดยการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน 3) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สาระเรขาคณิต ของนักเรียนก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน 4) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4/1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 โรงเรียนเทศบาลวัดชัยชุมพล สังกัดเทศบาลเมืองทุ่งสง จำนวน 46 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบแบ่งกลุ่ม (cluster random sampling) เครื่องมือที่ใช้ใน การวิจัย ได้แก่ 1) แผนการจัดการเรียนรู้พัฒนาทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ สาระเรขาคณิต โดยการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน 2) แบบประเมินทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ 3) แบบทดสอบทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ 4) แบบทดสอบวัดผลการเรียนรู้เรขาคณิต 5) แบบประเมินความพึงพอใจการวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าร้อยละ(%) ค่าเฉลี่ย (x̄ ) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) การทดสอบค่าที (t-test) ผลการวิจัยพบว่า
1. ประสิทธิภาพของแผนการจัดการเรียนรู้พัฒนาทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ สาระเรขาคณิต โดยการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีค่าเท่ากับ 85.02/87.11 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 80/80
2. ทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ ของนักเรียนที่จัดการเรียนรู้แบบโครงงานโดยภาพรวม อยู่ในระดับสูง (ร้อยละ 77.54 ,x̄ = 34.89, S.D. = 3.03) โดยค่าเฉลี่ยของคะแนนทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนหลังได้รับการจัดการเรียนรู้แต่ละด้านเรียงตามลำดับ คือ การสื่อสาร การสื่อความหมายและการนำเสนออยู่ในระดับสูง (ร้อยละ 82.11, x̄ = 7.39, S.D. = 1.03) การให้เหตุผล อยู่ในระดับสูง (ร้อยละ 81.67, x̄= 7.35, S.D. = 0.79) การเชื่อมโยงความรู้ต่างๆ ทางคณิตศาสตร์ และเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับศาสตร์อื่นๆ อยู่ในระดับสูง (ร้อยละ 80.88, x̄ = 7.28, S.D. = 0.89) และการแก้ปัญหาอยู่ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 68.11, x̄= 6.13, S.D. = 0.80)
3. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สาระเรขาคณิต ของนักเรียน มีคะแนนเฉลี่ยหลังการจัดการเรียนรู้สูงกว่าก่อนจัดการเรียนรู้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน นักเรียนพึงพอใจมากในทุกด้าน เรียงตามลำดับ คือ ในด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ( x̄= 2.81, S.D. = 0.44) ด้านประโยชน์ที่ได้รับจากการเรียนรู้ ( x̄= 2.76, S.D. = 0.43) และด้านบรรยากาศในการเรียนรู้ (x̄ = 2.64, S.D. = 0.50)