ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ เพื่อเสริมสร้างทักษะการอ่าน
สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาล ๖ (วัดเมืองยะลา)
ชื่อผู้วิจัย นางจุฑาสรณ์ นนทะเสน
สถานที่ทำงาน โรงเรียนเทศบาล ๖ (วัดเมืองยะลา) สำนักการศึกษา เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา
ปีที่วิจัย 2560
บทคัดย่อ
การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ เพื่อเสริมสร้างทักษะการอ่าน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาล ๖ (วัดเมืองยะลา) สำนักการศึกษา เทศบาลนครยะลา มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ เพื่อเสริมสร้างทักษะการอ่านสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 2) เพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ เพื่อเสริมสร้างทักษะการอ่าน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และ 3) เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ เพื่อเสริมสร้างทักษะการอ่าน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
ประชากรที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาล ๖ (วัดเมืองยะลา) สำนักการศึกษา เทศบาลนครยะลา ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 1 ห้องเรียน รวมทั้งสิ้น 26 คน เนื่องจากโรงเรียนมีห้องเดียว จึงใช้ประชากรทั้งหมดในการวิจัย เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย 1) แบบวิเคราะห์เอกสารเกี่ยวกับนโยบาย จุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษา และสภาพปัจจุบันของผลการจัดการศึกษาตามนโยบาย และจุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษา 2) แบบวิเคราะห์เอกสารเกี่ยวกับแนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบการจัด
การเรียนรู้ภาษาอังกฤษ เพื่อเสริมสร้างทักษะการอ่าน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และ
3) รูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ เพื่อเสริมสร้างทักษะการอ่าน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยมีเครื่องมือประกอบการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ ดังนี้ (1) แผนการจัด
การเรียนรู้ จำนวน 20 แผน (2) เนื้อเรื่องนิทานเพื่อพัฒนาทักษะการอ่านภาษาอังกฤษ จำนวน 10 เรื่อง (3) แบบทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 30 ข้อ (4) แบบประเมินความพึงพอใจ จำนวน 10 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
1. จากการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบาย เป้าหมาย ของการจัดการศึกษาในระดับประถมศึกษา พบว่า มีสภาพที่คาดหวัง คือ มุ่งปฏิรูปการเรียนรู้ โดยยึดหลักนักเรียนเป็นศูนย์กลาง จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความแตกต่างของนักเรียน โดยผู้วิจัยยึดแนวคิดของการเรียนรู้เกี่ยวกับการสอนทักษะการอ่านภาษาอังกฤษ ทฤษฎีการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการสอนแบบซิปปา และแนวคิดการสรรสร้างความรู้ (Constructivism)
2. รูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ เพื่อเสริมสร้างทักษะการอ่าน (EEPPC Model) สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่พัฒนาขึ้นมีขั้นตอนการสอน 5 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 ตรวจความรู้เดิม (Experience) ขั้นที่ 2 เพิ่มความรู้ใหม่ (Exploration) ขั้นที่ 3 ใส่ใจฝึกอ่าน (Practice) ขั้นที่ 4 สร้างสรรค์ชิ้นงาน (Production) และขั้นที่ 5 ร่วมกันสรุป (Conclusion) โดยรูปแบบการจัด การเรียนรู้ มีประสิทธิภาพเท่ากับ 81.10/82.11 เป็นไปตามเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้
3. การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 พบว่า
หลังเรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ เพื่อเสริมสร้างทักษะการอ่าน (EEPPC Model) สูงกว่าก่อนเรียน คิดเป็นร้อยละที่เพิ่มขึ้นเท่ากับ 51.02
4. ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่มีต่อการเรียนด้วยรูปแบบการจัด การเรียนรู้ภาษาอังกฤษ เพื่อเสริมสร้างทักษะการอ่าน (EEPPC Model) อยู่ในระดับมาก