ชื่อเรื่อง รายงานผลการพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบมัลติมีเดีย
เรื่องบรรยากาศและลมฟ้าอากาศ วิชาวิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
ชื่อผู้ศึกษา นางสายใจ แก้วอ่อน
สถานศึกษา โรงเรียนสาธิตเทศบาลวัดเพชรจริก
สังกัดเทศบาลนครนครศรีธรรมราช
ปีการศึกษา 2559
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) สร้างและหาประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบมัลติมีเดีย เรื่องบรรยากาศและลมฟ้าอากาศ วิชาวิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด 80/80 (2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่องบรรยากาศและลมฟ้าอากาศ วิชาวิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ก่อนและหลังเรียนโดยใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบมัลติมีเดีย เรื่องบรรยากาศและลมฟ้าอากาศ วิชา วิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 (3) ศึกษาจิตวิทยาศาสตร์ของนักเรียน ที่ได้รับการเรียนรู้ด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบมัลติมีเดีย เรื่องบรรยากาศและ ลมฟ้าอากาศ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ (4) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบมัลติมีเดีย เรื่องบรรยากาศและลมฟ้าอากาศ วิชาวิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่พัฒนาขึ้น กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ห้อง ม.1/1 โรงเรียนสาธิตเทศบาลวัดเพชรจริก สังกัดเทศบาลนครนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 30 คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง คือ (1) บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบมัลติมีเดีย เรื่องบรรยากาศและลมฟ้าอากาศ วิชาวิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 (2) แผนการจัดการเรียนรู้ เรื่องบรรยากาศและลมฟ้าอากาศ วิชาวิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 (3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่องบรรยากาศและลมฟ้าอากาศ วิชาวิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งมีค่าความยากง่าย (p) ระหว่าง 0.50-0.80 และค่าอำนาจจำแนก (r) ระหว่าง 0.40-0.80 และมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ .89 (4) แบบประเมินจิตวิทยาศาสตร์ของนักเรียนหลังจากได้รับการเรียนรู้ด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบมัลติมีเดีย เรื่องบรรยากาศและลมฟ้าอากาศ วิชาวิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ (5) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบมัลติมีเดีย การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และทดสอบสมมติฐานโดยใช้ค่าที (t-test) แบบ dependent
ผลการวิจัยพบว่า
1. บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบมัลติมีเดีย เรื่องบรรยากาศและลมฟ้าอากาศ วิชาวิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีค่าประสิทธิภาพ (E1/ E2) เท่ากับ 80.83/82.83 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด 80/80
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบมัลติมีเดีย เรื่องบรรยากาศและลมฟ้าอากาศ วิชาวิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 สูงกว่าก่อนใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบมัลติมีเดีย เรื่องบรรยากาศและลมฟ้าอากาศ วิชาวิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. จิตวิทยาศาสตร์ของนักเรียนหลังจากได้รับการเรียนรู้ด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบมัลติมีเดีย เรื่องบรรยากาศและลมฟ้าอากาศ วิชาวิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1ในภาพรวมอยู่ในระดับดีมาก ( x̄ = 4.56 , S.D. = 0.60)
4. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบมัลติมีเดีย เรื่องบรรยากาศและลมฟ้าอากาศ วิชาวิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก ( x̄ = 4.47 , S.D. = 0.62)