ผู้จัดทำ นางชยาภัสร์ วงฐ์ประภารัตน์
ที่มาและความสำคัญของโครงงาน
มะขามป้อมเป็นผลไม้ประจำจังหวัดสระแก้ว มะขามป้อมเป็นผลไม้ที่มี
วิตามินซีสูง และมีประโยชน์ หลายอย่าง เช่น แก้หวัด แก้ไอ ละลายเสมหะ แก้เจ็บคอ บำรุงผิวพรรณ บำรุงสายตาและสมอง ลดคลอเลสเตอรอล ลดน้ำตาลและไขมันในเลือด บำรุงปอด หลอดลม หัวใจและกระเพาะ ฯลฯ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามะขามป้อมมีประโยชน์มากมาย แต่มีรสฝาดทำให้รับประทานยาก พวกเราจึงคิดหาวิธีทำให้สามารถรับประทานมะขามป้อมได้ง่ายขึ้น จึงทดลองนำมาแปรรูปเป็นชา และใส่สมุนไพรต่างๆด้วย เพื่อให้ได้รสชาติและกลิ่นของสมุนไพรต่างๆ ได้แก่ ตะไคร้ ใบมะกรูด ข่า และกะเพรา ซึ่งเป็นสมุนไพรที่มีในโรงเรียนและมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากเช่นกัน จึงทำโครงงานเรื่องนี้
จุดมุ่งหมายของการศึกษาค้นคว้า
1. เพื่อทดลองนำมะขามป้อมและสมุนไพรต่างๆมาทำเป็นชามะขามป้อมรสสมุนไพร
2. เพื่อศึกษาวิธีการทำชาสมุนไพร
3. เพื่อเปรียบเทียบความนิยมในรสชาติของชามะขามป้อมรสสมุนไพรต่างๆ
สมมุติฐานของการศึกษา
มะขามป้อมสามารถนำมาแปรรูปเป็นชาได้ และชามะขามป้อมรสสมุนไพรต่างๆได้รับ
ความนิยมแตกต่างกัน
ตัวแปรที่ศึกษา
ตัวแปรต้น คือ ชนิดของสมุนไพรได้แก่ ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูดและกะเพรา
ตัวแปรตาม คือ รสชาติของชามะขามป้อมรสสมุนไพร และความนิยมในรสชาติของชามะขามป้อมรสต่างๆ
ตัวแปรควบคุม คือ ปริมาณมะขามป้อม ปริมาณสมุนไพรได้แก่ ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูดและกะเพรา ซองชา ระยะเวลาในการแช่ชา ปริมาณน้ำที่แช่ชา ชนิดและขนาดของภาชนะที่แช่ชา
วิธีดำเนินงาน
1. วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้
1. มะขามป้อม 8. เครื่องชั่งดิจิตอล
2. ข่า 9. เครื่องซีนซองชา
3. ตะไคร้ 10. ถ้วยผสมชา
4. ใบมะกรูด 11. ช้อน
5. ใบกะเพรา 12. แก้ว
6. ซองชา 13. มีด
7. เครื่องปั่น
2. วิธีทดลอง
1. เตรียมมะขามป้อม ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด และกะเพรา นำไปล้างน้ำให้สะอาด
2. นำมะขามป้อมมาแกะเอาเมล็ดออก
3. นำข่าและตะไคร้มาหั่นฝอยหรือใส่เครื่องสไลด์ให้เป็นแผ่นบางๆ
4. นำใบกระเพราและใบมะกรูดมาเด็ดเอาก้านใบออก
5. นำสมุนไพรทั้งหมดไปตากให้แห้งสนิท หรืออบในโรงอบสมุนไพรเพื่อแห้งสนิท(ประมาน 3-4 วัน)
6. นำสมุนไพรทั้งหมดมาปั่นให้ละเอียด
7. นำมะขามป้อมผสมกับใบกะเพราในอัตราส่วน 2:1 ส่วน (มะขามป้อม 2ส่วน : กะเพรา 1 ส่วน)
แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน
8. ตักส่วนผสมที่ได้ใส่ซองชา ซองละ2กรัม แล้วซีนปิดซองให้สนิท
9. ทำซ้ำในข้อ7-8 โดยเปลี่ยนจากใบกะเพราเป็น ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด
10. นำชามะขามป้อมสมุนไพรไปทดลองชง โดยแช่ในน้ำร้อนประมาณ 5 นาที ชิมรสชาติ พร้อมทั้งนำไปให้กลุ่มตัวอย่างชิมรสชาติและลงความเห็นว่าชอบรสใดที่สุด
11. บันทึกผล
ตารางบันทึกผลการทดลอง
จากการทดลองทำชามะขามป้อมรสสมุนไพรต่างๆ และจากการสำรวจความนิยมในรสชาติของชามะขามป้อมรสสมุนไพรของบุคลากรและนักเรียนชั้น ป.4-6 จำนวน 33 คน ได้ผลดังนี้
ชนิดชา จำนวนคน
1. ชามะขามป้อมรสข่า 4
2. ชามะขามป้อมรสตะไคร้ 1
3. ชามะขามป้อมรสใบมะกรูด 3
4. ชามะขามป้อมรสใบกะเพรา 25
รวม 33
สรุปผลการทดลอง
จากการศึกษาการทำชามะขามป้อมรสสมุนไพรต่างๆ ได้แก่ ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด
และใบกะเพรา ปรากฏว่ามะขามป้อมและสมุนไพรต่างๆสามารถนำมาทำชาได้จริง และชามะขามป้อมรสใบกะเพรา ได้รับความนิยมในรสชาติมากที่สุด
ประโยชน์ที่ได้รับ
1. ทำให้ทราบวิธีการทำชารสสมุนไพร
2. ทำให้ได้ชามะขามป้อมรสสมุนไพรต่างๆ
3. เป็นการนำสิ่งที่มีในโรงเรียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์
4. เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสมุนไพรในโรงเรียน
5. ทำให้มีความรู้เรื่องสมุนไพร รู้สรรพคุณหรือประโยชน์ของสมุนไพรแต่ละชนิดที่อยู่รอบตัว
6. ทำให้มีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น