ชื่อโครงการวิจัย การประเมินโครงการส่งเสริมรักการอ่านของนักเรียน
โรงเรียนเทศบาลบ้านสุขสำราญ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
ผู้วิจัย นางสาววิศัลย์ศยา พาพรหม
ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะ รองผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ
สถานศึกษา โรงเรียนเทศบาลบ้านสุขสำราญ สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมือง
วารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
ปีการศึกษา 2559
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการส่งเสริมรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนเทศบาลบ้านสุขสำราญ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินระดับคุณค่าของการประเมินโครงการส่งเสริมรักการอ่านของนักเรียนด้านสภาวะแวดล้อม ด้านปัจจัย ด้านกระบวนการและด้านผลผลิต 2) ศึกษานิสัยรักการอ่านของนักเรียน หลังการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมรักการอ่านของนักเรียน ผู้ประเมินได้เสนอผลการประเมินโครงการ สรุป อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ ตามลำดับ กลุ่มตัวอย่างในการประเมินได้แก่ ผู้บริหาร ครู และนักเรียนโรงเรียนเทศบาลบ้านสุขสำราญ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 563 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์ ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งก่อนดำเนินโครงการ ระหว่างดำเนินโครงการและหลังดำเนินโครงการ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย ( x̄ ) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และ ค่าสถิติการทดสอบค่าที ( t test Dependent Samples)
ผลการศึกษาพบว่า
1. ผลการประเมินระดับคุณค่าของโครงการส่งเสริมรักการอ่านของนักเรียนด้านสภาวะแวดล้อม ด้านปัจจัย ด้านกระบวนการและด้านผลผลิต พบว่า
ด้านสภาวะแวดล้อม ผลการประเมินโครงการส่งเสริมรักการอ่านในด้านสภาวะแวดล้อม โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก ถือว่าผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาแต่ละข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากกว่าข้ออื่น ๆ คือ การศึกษาพฤติกรรมรักการอ่านของนักเรียนในครั้งนี้ จะเป็นแนวทางส่งเสริมพฤติกรรมรักการอ่านให้กับนักเรียนทั้งโรงเรียน รองลงมาเพื่อให้นักเรียนเกิดทักษะในการอ่าน ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าทุกข้อคือ เพื่อปลูกฝังและส่งเสริมพฤติกรรมรักการอ่านของนักเรียน และเพื่อกระตุ้นและสนับสนุนให้นักเรียนสนใจการอ่านอยู่เสมอ
ด้านปัจจัย ผลการประเมินโครงการส่งเสริมรักการอ่านด้านปัจจัย (Input) โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก ถือว่าผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาแต่ละข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากกว่าข้ออื่นๆ คือ ผู้บริหาร ครูผู้รับผิดชอบเข้าใจวัตถุประสงค์และการจัดกิจกรรมโครงการส่งเสริมรักการอ่านเป็นอย่างดี วัสดุอุปกรณ์ สื่อที่ใช้ในการจัดกิจกรรมโครงการส่งเสริมรักการอ่านมีความเหมาะสมและเพียงพอ งบประมาณในการดำเนินโครงการส่งเสริมรักการอ่านเหมาะสมและเพียงพอ สื่อต่าง ๆ เช่น หนังสืออ่านเพิ่มเติมที่ใช้ในการจัดกิจกรรมมีความเหมาะสมและเพียงพอ และระยะเวลาในการดำเนินงานตามโครงการส่งเสริมรักการอ่านเหมาะสมและเพียงพอ รองลงมาคือ โครงการส่งเสริมรักการอ่าน มีการวางแผนนโยบายการดำเนินการไว้ชัดเจนส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าทุกข้อคือ สถานที่ จัดกิจกรรมโครงการส่งเสริมรักการอ่านมีความเหมาะสมเพียงพอ
ด้านกระบวนการ ผลการประเมินโครงการส่งเสริมรักการอ่านด้านกระบวนการปฏิบัติงานของผู้บริหารและครู (Process) ของผู้บริหารและครู โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก ถือว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาแต่ละข้อ พบว่า ข้อที่อยู่ในระดับมากที่สุด คือ โรงเรียนมีการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการของโครงการ รองลงมาคือ โรงเรียนมีการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการให้บุคลากรครูทุกคน และผู้รับผิดชอบโครงการมีการนิเทศติดตาม ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือและประเมินผลการดำเนินโครงการรักการอ่านอย่างสม่ำเสมอ ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าทุกข้อคือ โรงเรียนมีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่โครงการส่งเสริมรักการอ่านอย่างสม่ำเสมอ
ด้านผลผลิต ผลการประเมินโครงการส่งเสริมรักการอ่านด้านผลผลิต (Product) โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก ถือว่าผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาแต่ละข้อ พบว่า อยู่ในระดับ มากถึงมากที่สุด ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากกว่าข้ออื่นๆ คือ โครงการส่งเสริมกิจกรรมรักการอ่านทำให้นักเรียนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ นักเรียนรักการอ่านเพิ่มขึ้นและผู้ปกครองร่วมมือสนับสนุน และส่งเสริมการอ่านของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง รองลงมาคือ มีสถิติการใช้ห้องสมุดหรือแหล่งเรียนรู้ของนักเรียนเพิ่มขึ้น ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าทุกข้อคือ ครูใช้แหล่งเรียนรู้ในการจัดการเรียนรู้เพิ่มขึ้น
2. ผลการศึกษานิสัยรักการอ่านของนักเรียน หลังการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมรักการอ่านของนักเรียน พบว่า ผลการประเมินคุณค่ากิจกรรมในโครงการทั้ง 9 กิจกรรม พบว่า ทุกกิจกรรม นักเรียนมีความสนใจและเข้าร่วมกิจกรรมในกิจกรรมโดยมีระดับการเกิดพฤติกรรมอยู่ในระดับมาก ถึงระดับมากที่สุด ถือว่าผ่านเกณฑ์การประเมิน โดยมีค่าเฉลี่ยตั้งแต่ 4.51 - 4.65 เมื่อพิจารณาแต่ละกิจกรรมแสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จของโครงการ ซึ่งมีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของแต่ละกิจกรรม โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุดจำนวน 8 กิจกรรม กล่าวคือ กิจกรรมแนะนำหนังสือใหม่ นักเรียนมีความสนใจและเข้าร่วมกิจกรรมในกิจกรรมนี้ นักเรียนเข้าใช้และยืมหนังสือจากห้องสมุดเพิ่มมากขึ้น นักเรียนได้รับการกระตุ้นให้มีพฤติกรรมรักการอ่าน กิจกรรมอ่านหนังสือให้ฟัง นักเรียนมีความสนใจและเข้าร่วมกิจกรรมในกิจกรรมนี้ นักเรียนได้รับการกระตุ้นให้มีพฤติกรรมรักการอ่าน นักเรียนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารเพิ่มมากขึ้น กิจกรรมเล่านิทาน นักเรียนมีความสนใจและเข้าร่วมกิจกรรมในกิจกรรมนี้นักเรียนได้รับการกระตุ้นให้มีพฤติกรรมรักการอ่าน กิจกรรมมอบเกียรติบัตรยอดนักอ่านประจำเดือน นักเรียนรู้สึกภูมิใจ ชื่นชมยินดี ที่ได้เกียรติบัตรหรือกับ ผู้ที่ได้รับเกียรติบัตร นักเรียนได้รับการกระตุ้นให้มีพฤติกรรมรักการอ่าน นักเรียนมีความสนใจและเข้าร่วมกิจกรรมในกิจกรรมนี้ กิจกรรมเกร็ดความรู้หน้าเสาธง นักเรียนได้รับการกระตุ้นให้มีพฤติกรรมรักการอ่าน นักเรียนมีความสนใจและเข้าร่วมกิจกรรมในกิจกรรมนี้ นักเรียนค้นคว้าเกร็ดความรู้จากหนังสือเพิ่มมากขึ้น กิจกรรมพ่อแม่ลูกปลูกฝังพฤติกรรมรักการอ่าน ผู้ปกครองและนักเรียนมีส่วนร่วมในการอ่านมากขึ้น ผู้ปกครองและนักเรียนเห็นความสำคัญ และร่วมกิจกรรม นักเรียนได้ความรู้เพิ่มมากขึ้นจากกิจกรรมนี้ กิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน นักเรียนมีความสนใจและเข้าร่วมกิจกรรมในกิจกรรมนี้ นักเรียนรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์เพิ่มมากขึ้น กิจกรรมเรียนรู้สู่สารานุกรมไทย นักเรียนมีความสนใจและเข้าร่วมกิจกรรมในกิจกรรมนี้ นักเรียนเกิดทักษะด้านภาษาไทย กิจกรรมตะกร้าความรู้ นักเรียนมีความสนใจและเข้าร่วมกิจกรรมในกิจกรรมนี้ นักเรียนเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้เร็วมาก