ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการสอน POGFEA Model เพื่อพัฒนาความสามารถในการเขียน
ภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
ผู้วิจัย นางสาวทับทิม ทองพิมพ์
ปีที่พิมพ์ 2560
หน่วยงาน โรงเรียนไร่ใต้ประชาคม องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับปัญหาและความต้องการจำเป็นในการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการสอน POGFEA Model เพื่อพัฒนาความสามารถในการเขียนภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 75/75 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการสอน POGFEA Model เพื่อพัฒนาความสามารถในการเขียนภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และ 4) เพื่อประเมินผล/ปรับปรุงรูปแบบการสอน POGFEA Model เพื่อพัฒนาความสามารถในการเขียนภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยการวิจัยครั้งนี้ได้ทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่างได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนไร่ใต้ประชาคม จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 22 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยสุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) รูปแบบกิจกรรมการสอน POGFEA Model 2) แผนการจัดการเรียนรู้รูปแบบการสอน POGFEA Model 3) แบบสอบถามข้อมูลพื้นฐานเพื่อการจัดการเรียนรู้ 4) แบบสัมภาษณ์ครูผู้สอนเพื่อรวบรวมแนวคิดในการจัดกิจกรรมรูปแบบการสอน 5) แบบทดสอบวัดความสามารถทางการเขียนและเกณฑ์ประเมินงานเขียน และ 6) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการสอน POGFEA Model การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ ค่า t-test แบบ Dependent Samples และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1) ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน มีผู้ตอบแบบสอบถามเป็นนักเรียนหญิงมากกว่านักเรียนชาย นักเรียนได้ผลการเรียน 2.5 มากที่สุดเมื่อเรียนจบอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และได้ผลการเรียน 3.5 น้อยที่สุด โดยทั่วไปนักเรียนต้องการที่จะพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษด้านการเขียนมากที่สุด ในขณะที่ต้องการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษด้านการพูดน้อยที่สุด นักเรียนชอบรูปแบบในการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารมากที่สุด สำหรับวิธีสอนแบบอภิปรายมีค่าร้อยละน้อยที่สุด นักเรียนต้องการเรียนจากตัวอย่างข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยมากที่สุด มีความชอบโครงสร้างไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ และการเขียนสรุปบทเพลงน้อยที่สุด นักเรียนต้องการเรียนด้วยสื่อชุดฝึกเสริมทักษะมากที่สุด และต้องการเรียนด้วยหนังสือเล่มเล็กน้อยที่สุด นักเรียนรู้สึกชอบและภาคภูมิใจในกิจกรรมการทำงานกลุ่มมากที่สุด ในขณะที่ชอบการร่วมแสดงบทบาทสมมติน้อยที่สุด จากการสัมภาษณ์ครูผู้มีประสบการณ์ในด้านการจัดการเรียนการสอนภาษา อังกฤษ สรุปความได้สอดคล้องกันว่า นักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 มีปัญหาการเรียนวิชาภาษาอังกฤษในทักษะการเขียนค่อนข้างสูง โดยนักเรียนบางคนขาดความรู้ความเข้าใจในวิชาภาษอังกฤษมาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ทำให้เกิดความท้อแท้และเบื่อหน่ายในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษเรื่อยมา รวมถึงตัวนักเรียนขาดความขยันหมั่นเพียรในการท่องศัพท์ การจัดการเรียนการสอนด้วยวิธีการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร ส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพโดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนแต่ละคนสามารถทำงานกลุ่มร่วมกัน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ส่งเสริมผู้เรียนให้สามารถฝึกเขียนได้อย่างสะดวกสบายซึ่งเป็นการจัดการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
2) ผลการพัฒนารูปแบบการสอน POGFEA Model เพื่อพัฒนาความสามารถในการเขียน
ภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ได้รูปแบบกิจกรรมที่พัฒนาขึ้นมาโดยรูปแบบมีองค์ประกอบคือ หลักการ วัตถุประสงค์ เนื้อหา กระบวนการกิจกรรม สิ่งที่เสริมการเรียนรู้ได้แก่ ระบบสังคม หลักการตอบสนอง และสิ่งสนับสนุน สำหรับกระบวนการจัดกิจกรรมรูปแบบการสอน POGFEA Model เพื่อพัฒนาความสามารถในการเขียนภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีขั้นตอนดังนี้ 1) ขั้นนำเสนอรูปแบบ (Presentation Stage) 2) ขั้นปฏิบัติการเขียน (Operated Writing Stage) 3) ขั้นการเขียนแบบชี้แนะ (Guided Writing Stage) 4) ขั้นการเขียนแบบอิสระ (Free Writing Stage) 5) ขั้นปรับปรุงการเขียน (Editing Writing Stage) และ 6) ขั้นประเมินผลและแสดงผลงาน (Authentic Assessment Stage) ผลการพัฒนารูปแบบการสอน POGFEA Model เพื่อพัฒนาความสามารถในการเขียนภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีประสิทธิภาพ E1/E2 เท่ากับ 76.31/73.50
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการสอน POGFEA Model เพื่อพัฒนาความสามารถในการเขียนภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 พบว่านักเรียนมีความสนใจและกระตือรือร้นในการเรียน ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติกิจกรรมเป็นอย่างดี นำเสนอผลงานเป็นที่น่าพอใจ และพบว่าความสามารถในการเขียนภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ผลการประเมิน/ปรับปรุงรูปแบบการสอน POGFEA Model เพื่อพัฒนาความสามารถในการเขียนภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 พบว่า ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยรูปแบบการสอน POGFEA Model เพื่อพัฒนาความสามารถในการเขียนภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด