การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปของรูปแบบการนิเทศเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของครูโรงเรียนเขาใหญ่พิทยาคม 2) พัฒนารูปแบบการนิเทศเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของครูโรงเรียนเขาใหญ่พิทยาคม 3) ทดลองใช้รูปแบบการนิเทศเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของครูโรงเรียนเขาใหญ่พิทยาคม และ 4) ประเมินผลและปรับปรุงรูปแบบการนิเทศเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของครูโรงเรียนเขาใหญ่พิทยาคม ประชากรที่ใช้ในการวิจัย คือ ครู จำนวน 10 คน ของโรงเรียนเขาใหญ่พิทยาคม ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 ดำเนินการวิจัยด้วยวิธีการวิจัยและพัฒนา เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ แบบทดสอบ แบบประเมิน แบบบันทึก แบบตรวจสอบ แบบรายงาน และประเด็นการสนทนากลุ่ม ที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัย พบว่า
1. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปของรูปแบบ ดังนี้ สภาพปัจจุบันการนิเทศ มีระดับการปฏิบัติปานกลาง ส่วนสภาพปัญหาการนิเทศมีปัญหาปานกลาง และสำหรับความต้องการการนิเทศมีความต้องการสูง ซึ่งข้อมูลจากการสอบถามและสัมภาษณ์มีความสอดคล้องกัน
2. ผลการพัฒนารูปแบบ ทำให้ได้ร่างรูปแบบและคู่มือการนิเทศเพื่อส่งเสริมการจัด
การเรียนรู้บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบ 5 องค์ประกอบ คือ 1) องค์ประกอบเชิงหลักการและวัตถุประสงค์ 2) องค์ประกอบเชิงกิจกรรมการนิเทศ/เนื้อหา
3) องค์ประกอบเชิงกระบวนการนิเทศ มีกระบวนการนิเทศ 5 ขั้นตอน 4) องค์ประกอบเชิงการวัดผลและประเมินผล และ 5) องค์ประกอบเชิงปัจจัยที่เอื้อต่อการนำรูปแบบการนิเทศไปใช้ สำหรับผลของการตรวจสอบคุณภาพของรูปแบบการนิเทศเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า ค่าดัชนีความสอดคล้องของความสมเหตุสมผลเชิงทฤษฎี มีค่าอยู่ระหว่าง 0.601.00 ค่าดัชนีความสอดคล้องของความเป็นไปได้ มีค่าอยู่ระหว่าง 0.80-1.00 ค่าดัชนี
ความสอดคล้องของความสอดคล้องของร่างรูปแบบ มีค่า 1.00 ทุกข้อ และความเหมาะสมของคู่มือการนิเทศอยู่ในระดับมาก
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบ มีผลการประเมิน ดังนี้ 3.1) ผลการประเมินความรู้
ความเข้าใจของครู พบว่า ครูมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยหลังการใช้รูปแบบมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าก่อนการใช้รูปแบบ 3.2) ผลการประเมินพฤติกรรมที่แสดงออกถึงการจัดการเรียนรู้บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยครูประเมินตนเอง หลังการใช้รูปแบบมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าก่อนการใช้รูปแบบ 3.3) ผลการประเมินความสามารถของครูเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยผู้วิจัยเป็นผู้ประเมิน พบว่า ครูมีความสามารถเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ โดยหลังการใช้รูปแบบมีคะแนนสูงกว่าก่อนการใช้รูปแบบ และจากบันทึกการนิเทศ พบว่า ครูมีการพัฒนาเกี่ยวกับการวิเคราะห์หลักสูตร การเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับแผนการจัดการเรียนรู้และบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 3.4) ผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน พบว่า ทั้งแผนการจัดการเรียนรู้ 10 หน่วยการเรียนรู้ มีคะแนนหลังเรียนสูงกว่าคะแนนก่อนเรียน
4. ผลการประเมินผลและปรับปรุงรูปแบบ มีผลการประเมินและปรับปรุงรูปแบบ ดังนี้ 4.1) ผลประเมินความพึงพอใจของครูที่มีต่อรูปแบบ พบว่า ครูมีความพึงพอใจต่อรูปแบบการนิเทศเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์การสนทนากลุ่ม 4.2) ผลการปรับปรุงรูปแบบ จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการทดลองใช้รูปแบบการนิเทศเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในขั้นตอนที่ 3 ของการวิจัย ผู้วิจัยได้พิจารณาแก้ไขปรับปรุงรูปแบบการนิเทศเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้รูปแบบมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เมื่อนำไปใช้ในสถานการณ์จริงได้ และ 4.3) การรายงานผลการประเมินการจัดการเรียนรู้บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามโครงการโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย พบว่า มีคุณภาพอยู่ในระดับดีเยี่ยมทุกด้าน ทุกองค์ประกอบ และทุกตัวบ่งชี้