การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัญหา และค้นคว้าหาแนวทางการจัดทำหลักเกณฑ์การประเมินผลงานของข้าราชการ และพนักงานมหาวิทยาลัย สายสนับสนุนวิชาการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประชากรที่ใช้ศึกษา คือ บุคลากรคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ช่วง คือ
- ช่วงแรก เป็นการหาข้อมูลเพื่อศึกษาสภาพปัญหาต่างๆ ของระบบประเมินผลงาน โดยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interview) ใช้กลุ่มตัวอย่างจากบุคลากรคณะวิศวกรรมศาสตร์ จำนวน 30 คน ประกอบด้วยกลุ่ม อาจารย์ ข้าราชการ และพนักงานมหาวิทยาลัยซึ่งแบ่งออกเป็นกลุ่มที่เป็นผู้ประเมิน และกลุ่มผู้ถูกประเมินอย่างละเท่าๆ กันโดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ (Systematic Sampling) อัตราส่วนระหว่างจำนวนกลุ่มตัวอย่างต่อประชากร 1:10
- ช่วงที่ 2 เป็นแบบสอบถาม เพื่อกำหนดค่าน้ำหนักคะแนนของดัชนีการประเมินผล ในขั้นตอนนี้ศึกษาจากประชากรโดยตรงของข้าราชการ และพนักงานมหาวิทยาลัย จำนวนทั้งสิ้น 22 คน ประกอบด้วยบุคลากรตำแหน่งต่างๆ ดังนี้คือ 1. พนักงานวิทยาศาสตร์ , 2. ครู (ช่วยสอน) , 3. นายช่างเทคนิคต่างๆ , 4. วิศวกรภาควิชา และ 5. นักวิชาการคอมพิวเตอร์ประจำภาควิชา
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ 1. แบบสัมภาษณ์เชิงลึก (In - depth interview) ใช้สำหรับ ศึกษาสภาพปัญหาต่างๆ ของระบบประเมินผลงานในช่วงแรก และ 2. แบบสอบถาม ใช้กำหนด ค่าน้ำหนักคะแนนของดัชนีการประเมินผลงานของกลุ่มข้าราชการ และพนักงานมหาวิทยาลัย สำหรับในช่วงที่ 2 โดยใช้รูปแบบของการศึกษาวิจัยในเชิงคุณภาพ (Qualitative research) และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์ประเด็นที่ศึกษา และการตีความเพื่อสรุป โดยนำเสนอข้อมูลในลักษณะของการพรรณนา (Descriptive Research) โดยการสอดแทรกตารางประกอบการนำเสนอข้อมูล
จากการศึกษาวิจัย สามารถสรุปผลได้ 2 หัวข้อหลักดังนี้
1. ข้อมูลในเบื้องต้นที่เกี่ยวข้องต่อสภาพการณ์ของระบบการประเมินผลงาน
2. ดัชนี และหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ประเมินผลงานของข้าราชการ และพนักงาน
1. ข้อมูลในเบื้องต้นที่เกี่ยวข้องต่อสภาพการณ์ของระบบการประเมินผลงาน
จากผลการวิจัยพบว่า สภาพปัญหาที่เกิดจากระบบการประเมินผลการปฏิบัติงาน มีเหตุปัจจัยอยู่ด้วยกัน 3 ประการ คือ 1. ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสภาพปัญหาของผู้ประเมิน 2. ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสภาพปัญหาของผู้ถูกประเมิน และ 3. ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่ส่งผลกระทบจากกฎระเบียบ
1. ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสภาพปัญหาของผู้ประเมิน พบว่า มีปัญหาอยู่ด้วยกัน 3 สาเหตุ คือ 1.1 การประเมินผลงานในส่วนของการให้คะแนนไม่ได้สะท้อนถึงคุณภาพที่แท้จริงในผลงานของผู้ถูกประเมิน 1.2 ผู้ประเมินต้องประเมินผลงานของผู้ถูกประเมินที่ปฏิบัติงานไม่สัมพันธ์กัน แต่มีฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาที่จำเป็นต้องประเมิน และ 1.3 การประเมินผลงาน จำเป็นต้องนำเหตุ และปัจจัยหลายประการที่เป็นบริบทของการทำงานนำมาคิดวิเคราะห์ซึ่งเป็นนามธรรม ไม่สามารถวัด และตีคุณค่าออกมาในเชิงตัวเลขได้
2. ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสภาพปัญหาของผู้ถูกประเมิน พบว่า มีปัญหาอยู่ด้วยกัน 7 สาเหตุ คือ 2.1 มาตรฐานการให้คะแนนของผู้ประเมิน 2.2 การตีค่าน้ำหนักการให้คะแนนของ ผู้ประเมิน 2.3 ภาระงานที่ประเมินไม่สอดคล้องกับมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง 2.4 การประเมินนอกเหนือจากภาระงานที่กำหนด 2.5 จำนวนของผู้ประเมิน 2.6 การแจ้งรายละเอียดผลการประเมิน 2.7 การคิดคะแนนสะสมในรอบ 10 ปี
3. ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่ส่งผลกระทบจากกฎระเบียบ พบว่า ระเบียบที่นำมาประเมินผลงานฉบับดังกล่าว เป็นการวัดผลสัมฤทธิ์ที่มุ่งไปสู่การวัดความสำเร็จของบุคคลมากว่า การวัดผลสัมฤทธิ์ที่มุ่งไปสู่ความสำเร็จขององค์กรในภาพรวม
2. ดัชนี และหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ประเมินผลงานของข้าราชการ และพนักงาน
จากผลการวิจัย สามารถสรุปผลได้ดังนี้ คือ ข้าราชการ และพนักงานมหาวิทยาลัยหลังถูกยุบรวมบุคลากรตำแหน่งครู (ผู้ช่วยสอน) และตำแหน่งนายช่างเทคนิคต่างๆ ทำให้เหลือกลุ่มบุคลากรสายสนับสนุนวิชาการรวมทั้งสิ้น 4 ตำแหน่ง ได้แก่ พนักงานวิทยาศาสตร์ ช่างเทคนิคต่างๆ วิศวกร และพนักงานคอมพิวเตอร์ภาควิชา ดังนั้น คณะกรรมการร่างการปรับปรุงหลักเกณฑ์ได้พิจารณาทั้ง 4 ตำแหน่งแล้วเห็นว่า ลักษณะงาน และภาระงานมีลักษณะที่ใกล้เคียงกัน จึงมีมติให้ใช้แบบประเมินที่เหมือนกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ดัชนีของภารงานที่ใช้ประเมิน ได้แก่ 1.1 งานช่วยสอนปฏิบัติการ และควบคุมปฏิบัติการ 1.2 งานจัดซื้อ จัดเตรียมอุปกรณ์การเรียนการสอน 1.3 งานซ่อมบำรุงเครื่องมือและอุปกรณ์ 1.4 งานบริการทางวิชาการ 1.5 การวางแผนการปฏิบัติงาน 1.6 การพัฒนาปรับปรุงงาน
2. การกำหนดหัวข้อ และหลักเกณฑ์ในแต่ละด้านของการประเมินสามารถสรุปผลได้ดั้งนี้ คือ 2.1 หลักเกณฑ์ในด้านคุณภาพและความสามารถ มีค่าน้ำหนักเท่ากับ 40 คะแนน 2.2 หลักเกณฑ์ในด้านปริมาณงาน มีค่าน้ำหนักเท่ากับ 40 คะแนน 2.3 หลักเกณฑ์ในด้านมนุษย์สัมพันธ์ มีค่าน้ำหนักเท่ากับ 20 คะแนน
3. การกำหนดผู้ประเมินผลงาน และการกำหนดน้ำหนักเปอร์เซ็นต์ของผู้ประเมิน สามารถ สรุปผลได้ดั้งนี้ คือ 3.1 หัวหน้าภาควิชา มีน้ำหนักการประเมินเท่ากับ 40 % 3.2 รองหัวหน้าภาควิชา มีน้ำหนักการประเมินเท่ากับ 25 % 3.3 อาจารย์ผู้ควบคุมปฏิบัติการ มีน้ำหนักการประเมินเท่ากับ 35 %
4. การกำหนดค่าดัชนีการประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากรสายสนับสนุนวิชาการทั้ง 4 ตำแหน่ง สามารถ สรุปผลได้ดั้งนี้ คือ 4.1 งานช่วยสอนปฏิบัติการ และควบคุมปฏิบัติการ 4.2 งานจัดซื้อ จัดเตรียมอุปกรณ์การเรียนการสอน 4.3 งานซ่อมบำรุงเครื่องมือและอุปกรณ์ 4.4 งานบริการทางวิชาการ และ 4.5 การวางแผนการปฏิบัติงาน กำหนดให้ประเมินเฉพาะ ดัชนีด้านคุณภาพ กับดัชนีในด้านของเวลา ส่วน 4.6 การพัฒนาปรับปรุงงาน กำหนดให้ประเมินเฉพาะ ดัชนีคุณภาพ กับดัชนีในด้านของปริมาณงาน
5. การกำหนดคุณลักษณะหรือพฤติกรรมในการปฏิบัติงานของบุคลากรสายสนับสนุนวิชาการทั้ง 4 ตำแหน่ง สามารถสรุปผลได้ดั้งนี้ คือ 5.1 วันลาป่วยและลากิจสะสม มีคะแนนเต็ม เท่ากับ 5 คะแนน และ 5.2 การมาสายกลับก่อนมีการคิดคะแนนสะสมเท่ากับ 5 คะแนน
6. การกำหนดคะแนนสะสม ในรอบปีที่ผ่านมา สามารถ สรุปผลได้ดั้งนี้ คือ 6.1 ถ้าในรอบปีที่ผ่านมาประเมินได้ 2 ขั้นจะไม่มีคะแนนสะสม 6.2 ถ้าในรอบปีที่ผ่านมาประเมินได้ 1.5 ขั้น จะมีคะแนนสะสม อยู่ 7.5% และ 6.3 ถ้าในรอบปีที่ผ่านมาประเมินได้ 1 ขั้นจะมีคะแนนสะสม เท่ากับ 15%