การวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์ เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อประสิทธิภาพการใช้งานเครื่องมือพื้นฐานทางวิศวกรรมไฟฟ้าชนิดต่างๆ และนำข้อมูลมาเตรียมความพร้อมในการวางแผนการดำเนินงานต่อการให้บริการทางการศึกษาของห้องปฏิบัติการไฟฟ้าเบื้องต้น (วศ.506) ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประชากรที่ใช้ศึกษา คือ นักศึกษาที่มาใช้บริการห้องปฏิบัติการไฟฟ้าเบื้องต้น (วศ.506) ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวนทั้งสิ้น 42 คน และเนื่องจากการศึกษาวิจัยในครั้งนี้มีประชากรที่ใช้ในการศึกษาไม่มากนัก และสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลได้ทั้งหมด ผู้วิจัยจึงศึกษาข้อมูลจากประชากรโดยตรง
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามที่ผ่านการคัดกรองจากผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษา โดยแบ่งออกเป็น 2 ตอนดังนี้
ตอนที่ 1 คำถามเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวของผู้ตอบแบบสอบถาม
ตอนที่ 2 คำถามเกี่ยวกับสภาพโดยทั่วไปของการใช้งานเครื่องมือพื้นฐานชนิดต่างๆ
การวิเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติที่ชื่อ SPSS 11.5 for Windows (statistic package for the social science/Real Stats. Real Easy) Version 11.5 ส่วนสถิติที่ใช้ คือ ค่าร้อยละ และหาค่าความสัมพันธ์ของข้อมูลโดยการทดสอบค่าไค-สแควร์ (chi-square)
การนำเสนอข้อมูล ใช้วิธีการนำเสนอในลักษณะของการบรรยายโดยการสอดแทรก ตาราง และแผนภูมิ ประกอบการนำเสนอ
จากการวิจัยสามารถสรุปผลได้ 3 หัวข้อหลัก ดังนี้
1. ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม
2. ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพการใช้งานเครื่องมือพื้นฐานทางวิศวกรรมไฟฟ้าชนิดต่างๆ
3. สรุปผลการประเมินความเสี่ยงของเครื่องมือพื้นฐานวิศวกรรมไฟฟ้า
1. ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม
จากผลการวิจัย พบว่า นักศึกษาที่มาใช้บริการห้องปฏิบัติการไฟฟ้าเบื้องต้น (วศ.506) เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มีจำนวนทั้งหมด 41 คน นักศึกษาส่วนใหญ่มีช่วงอายุอยู่ระหว่าง 18-20 ปี และใช้ทุนส่วนตัวในการศึกษา นักศึกษาส่วนใหญ่พักอาศัยอยู่หอพักในสถาบัน และเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วนักศึกษาคิดจะทำงานและเรียนต่อไปด้วย ส่วนนักศึกษา ที่คิดจะทำงานส่วนใหญ่คิดว่าจะทำงานที่กรุงเทพ และจะศึกษาต่อสถาบันเดิมจากที่จบมา เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วนักศึกษาส่วนใหญ่ตั้งใจจะประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว ส่วนเวลาเรียนส่วนใหญ่นักศึกษาจะเข้าเรียนทุกครั้ง เป็นต้น
2. ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพการใช้งานเครื่องมือพื้นฐานทางวิศวกรรมไฟฟ้าชนิดต่างๆ
จากผลการวิจัย พบว่า นักศึกษาที่มาใช้บริการห้องปฏิบัติการไฟฟ้าเบื้องต้น (วศ.506) ส่วนใหญ่ที่ใช้งานเครื่องมือพื้นฐานทางวิศวกรรมไฟฟ้าชนิดต่างๆ เกิน 3 ครั้งขึ้นไป ได้แก่ 1. แหล่งจ่ายไฟฟ้ากระแสตรง 2. มัลติมิเตอร์แบบดิจิตอล 3. เบรดบอร์ด 4. คีมจับ 5. คีมตัด และเครื่องมือชนิดต่างๆ ที่ใช้งาน 1-2 ครั้ง ได้แก่ 1. ออสซิลโลสโคป 2. ฟังก์ชั่นเจนเนอร์เรเตอร์ 3. หัวแร้งบัดกรีและที่ดูดตะกั่ว 4. คีมปอกสายไฟ เป็นต้น สำหรับในส่วนของความเข้าใจต่อการใช้งานเครื่องมือพื้นฐานทางวิศวกรรมไฟฟ้าชนิดต่างๆ นั้น นักศึกษาส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่ามีความเข้าใจ และสามารถใช้งานได้ อีกทั้งเครื่องมือพื้นฐานทางวิศวกรรมไฟฟ้าชนิดต่างๆ ทั้ง 9 ชนิดนี้ ยังสามารถใช้งานได้ดี 100% และไม่อันตรายต่อการใช้งาน
3. สรุปผลการประเมินความเสี่ยงของเครื่องมือพื้นฐานวิศวกรรมไฟฟ้า
จากผลการวิจัย พบว่า มีเครื่องมือพื้นฐานทางวิศวกรรมไฟฟ้าที่มีความเสี่ยงสูงต่อการชำรุดเสียหาย และมีอายุการใช้งานสั้น อันเนื่องมาจากผลของการใช้งาน และต้องนำผลของข้อมูลมาประกอบการพิจารณาในการวางแผนการดำเนินงานอย่างรัดกุม รอบครอบ และเครื่องมือ ดังกล่าวมีทั้งหมด 5 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ 1. แหล่งจ่ายไฟฟ้ากระแสตรง 2. มัลติมิเตอร์แบบดิจิตอล 3. เบรดบอร์ด 4. คีมจับ และสุดท้าย 5. คีมตัด