ชื่อผลงานนวัตกรรม การบริหารโรงเรียนคุณธรรม
ชื่อเจ้าของผลงานนวัตกรรม นายพานุพันธ์ เนตรรุ่ง
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนโรตารี่กรุงเทพ
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาประจวบคีรีขันธ์ เขต 2
ประเภทผลงาน ด้านการบริหาร
สอดคล้องกับคุณลักษณะโรงเรียนคุณธรรม สพฐ.
ความกตัญญู กตเวที
ความรับผิดชอบ
ความพอเพียง
หลักการและเหตุผล
ในปัจจุบันโลกได้เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตมาก เนื่องด้วยกระแสโลกาภิวัฒน์และวิทยาการเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้โลกมีการพัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างก้าวกระโดด มีการรับเอาค่านิยมต่างชาติ มาแทนค่านิยมความเป็นไทยในอดีต การช่วยเหลือเกื้อกูลกันแบบไม่หวังผลตอบแทนเลือนหายไปจากสังคม จนอาจทำให้ในบางครั้งก็หลงลืมความเป็นไทย หลงลืมจิตสำนึกและคุณธรรมจริยธรรม
โรงเรียนเป็นสถานที่บ่มเพาะ ผลิตเยาวชนให้มีความรู้ความสามารถเพื่อพัฒนาประเทศชาติ หากมีเพียงความรู้ สังคมจะมีแต่คนเก่งที่ทำให้ประเทศไปข้างหน้าได้ แต่ไม่สามารถยกระดับให้ประเทศเจริญสูงขึ้นได้ สิ่งที่จะยกระดับความนึกคิดของมนุษย์ในสังคมให้สูงขึ้นได้ คือ คุณธรรมและความดี นักเรียนเป็นผลผลิตที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ หากประเทศไทยมีทั้งคนเก่งและคนดีที่ช่วยกันพัฒนาประเทศ เชื่อได้ว่าประเทศไทยต้องพัฒนาได้อย่างมีคุณภาพแน่นอน
โรงเรียนโรตารี่กรุงเทพ ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาเยาวชนให้มีประสิทธิภาพในการพัฒนาประเทศ เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพทั้งเป็นคนเก่งและคนดี การปลูกฝังจิตสำนึกที่มีคุณธรรมจริยธรรมในโรงเรียนต้องเริ่มตั้งแต่บุคลากรจนไปถึงนักเรียน เพื่อให้โรงเรียนเป็นจุดเริ่มต้นของสังคมคุณธรรม ปลูกฝังจิตสำนึกความมีคุณธรรมให้บุคลากรและนักเรียนจนเป็นนิสัยและนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต
จุดประสงค์
1. เพื่อให้ผู้บริหาร ครูและบุคลากรในโรงเรียนปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักคุณธรรม จริยธรรม
2. เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้คู่คุณธรรม
3. เพื่อให้เกิดสังคมที่น่าอยู่ ดำรงไว้ซึ่งคุณธรรมจริยธรรม ความดีงาม
เป้าหมาย
เชิงคุณภาพ
1. ผู้บริหาร ครูและบุคลากรในโรงเรียนปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักคุณธรรม จริยธรรม
2. ผู้เรียนมีความรู้คู่คุณธรรม
3. โรงเรียนเป็นสังคมที่น่าอยู่
เชิงปริมาณ
1. บุคลากรในโรงเรียนโรตารี่กรุงเทพทุกคนมีคุณธรรมจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่
2. นักเรียนโรงเรียนโรตารี่กรุงเทพทุกคนมีความรู้และมีคุณธรรม
ขั้นตอนการดำเนินงาน
กิจกรรม ระยะเวลา งบประมาณ ผู้รับผิดชอบ
1.ประชุมหารือ เกี่ยวกับปัญหาในโรงเรียน
- ผู้บริหาร ครูและบุคลากรในโรงเรียน
2. วางแผนหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
- ปรับสภาพแวดล้อมโรงเรียน
- ผู้บริหารเป็นแบบอย่างที่ดี - ผู้บริหาร ครูและบุคลากรในโรงเรียน
3.ดำเนินการตามขั้นตอน
- ใช้หลักการทำงานแบบ PDCA
- ปรับสภาพแวดล้อมโดยให้ทุกคนในองค์กรมีส่วนร่วมให้การช่วยพัฒนา
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ พร้อมไปกับการเริ่มสร้างหรือบ่มเพาะพฤติกรรมที่พึงประสงค์ขึ้นให้กับครูและนักเรียน
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยยึดหลักคุณธรรม จริยธรรม 3 ประการ ได้แก่ ความกตัญญู กตเวที ความรับผิดชอบ และความพอเพียง
-
ผู้บริหาร ครูและบุคลากรในโรงเรียน
4. สรุปผลการดำเนินงาน
- ผู้บริหาร
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. ผู้บริหาร ครูและบุคลากรในโรงเรียนปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักคุณธรรม จริยธรรม
2. ผู้เรียนมีความรู้คู่คุณธรรม
3. โรงเรียนเป็นสังคมที่น่าอยู่ ดำรงไว้ซึ่งคุณธรรมจริยธรรม ความดีงาม
ปัจจัยไปสู่ความสำเร็จ
1. ผู้บริหารต้องมีแนวคิดและเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตน ยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม ความดีงาม
2. บุคลากรทุกคนในโรงเรียนมีความเชื่อมั่นและพร้อมพัฒนาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้โรงเรียนเป็นสังคมที่น่าอยู่โดยยึดหลักคุณธรรมจริยธรรม
3. บุคลากรทุกคนได้มีส่วนร่วมในการปฏิบัติกิจกรรมคุณธรรม เกิดความรัก ความหวงแหน ความสำนึก และระลึกในการกระทำของตนเอง
บทเรียนที่ได้รับ
1. การปฏิบัติกิจกรรมต่างๆของโรงเรียนที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วมจะทำให้ทุกคนเกิดความรัก ความหวงแหน ความละอายต่อสิ่งที่ตนเองกระทำ ผู้ที่เคยทำผิดเมื่ออยู่ในสังคมจะเกิดความละอายต่อบาป ผู้ที่กระทำแต่ในสิ่งที่ดีงามปฏิบัติตนจนติดเป็นนิสัยและนำไปใช้ในทุกๆกิจกรรมที่ทำ ส่งผลให้เป็นผู้ที่ระลึกถึงการมีคุณธรรมนำชีวิตอยู่เสมอ
2. เกิดสังคมที่น่าอยู่ เพราะคนในสังคมมีคุณธรรมในการช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ มีความกตัญญู มีความรับผิดชอบและอยู่อย่างพอเพียง
ภาคผนวก
ความกตัญญู คือ การรู้สึกสำนึกในคุณ ด้วยแสดงความเคารพ นับถือ เชื่อฟัง และช่วยเหลือในกิจการงานต่าง ๆ การกระทำเช่นนี้ ย่อมนำมาซึ่งความสุข ความเจริญ และเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและหน้าที่การงาน ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี การที่เยาวชนไทยได้รับการปลูกฝังคุณลักษณะที่ดีในเรื่องของความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณถือเป็นเรื่องที่ดี เป็นการสร้างภูมิ คุ้มกันให้สังคม การเลี้ยงดูของครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยอบรมและส่งเสริมพฤติกรรมของเยาวชนให้มีคุณลักษณะของการเป็นคนมีความกตัญญู ความตระหนักรู้ในคุณของบุคคล สัตว์ และสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อตนเองทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
ลักษณะของคนมีความกตัญญูตามหลักพระพุทธศาสนา มี 2 ลักษณะ ได้แก่
กตัญญูชั้นสามัญ คือ กตัญญูอย่างสามัญทั่วไป หมายถึง รู้อุปการคุณที่บุคคลอื่นทำให้เรา ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดกตเวที คือ การตอบแทนคุณ ซึ่งเด็กจะยอมรับว่าใครมีคุณก็ต่อเมื่อเขาทำอะไรให้กับตนเท่านั้น เช่น ยอมรับว่าพ่อแม่มีพระคุณ เพราะได้เลี้ยงดูมา ยอมรับว่าครูมีพระคุณ เพราะได้อบรมสั่งสอน ยอมรับว่าญาติพี่น้องมีบุญคุณ เพราะเคยให้ข้าวให้ขนม
กตัญญูชั้นสัตบุรุษ เป็นความกตัญญูชั้นสูง หมายถึง การรู้จักคุณธรรมความดีที่มีอยู่ในตัวบุคคลอื่น ใครมีความดีก็รู้ว่าเขาเป็นคนดี ไม่ว่าจะทำอะไรให้เราหรือไม่ก็ตาม ไม่ยึดเอาตัวเองเป็นเครื่องวัดความดีของคนอื่น เป็นการตัดสินความดีด้วยความดี และรู้จนกระทั่งว่าธรรมทั้งหลายมีคุณค่าอย่างไร และพยายามถ่ายทอดคุณลักษณะที่ดีนั้นมาใส่ตัวเรา เพื่อจะได้ทำความดีเป็นแบบอย่างที่ดีเหมือนเขา
ความกตัญญูกตเวทีเป็นคุณธรรมที่สำคัญสำหรับมนุษยชาติ เป็นคุณธรรมพื้นฐานของมนุษย์ ทำให้มีความสัมพันธ์กันในสังคมมนุษย์และเป็นบ่อเกิดแห่งความรับผิดชอบต่อความเป็นมนุษย์ และเป็นคุณธรรมเบื้องตนของมนุษยธรรมทั้งหลาย เพราะเป็นเครื่องทำลายความเห็นแก่ตัวซึ่งเป็นศัตรูสำคัญของความดี เป็นเหตุให้เกิดความสุขุม รอบคอบ ความสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบ จำแนกความสำคัญของความกตัญญูกตเวทีได้ดังนี้
ความกตัญญูกตเวทีเป็นวัฒนธรรมที่ดีงาม ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมไทยได้สอดแทรกความกตัญญูกตเวทีไว้เกือบทุกเรื่อง เช่น การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ตาย การบวช วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ วันลอยกระทง เป็นต้น
ความกตัญญูกตเวที ทำให้สถาบันครอบครัวและสังคมมั่นคง ซึ่งนับว่าเป็นหลักธรรมพื้นฐานที่ทำให้มนุษย์รู้จักการกระทำหน้าที่อันเหมาะสมของตนเอง โดยเริ่มจากความรับผิดชอบต่อตนเอง ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ในสถาบันครอบครัว โดยบิดามารดาทำหน้าที่ในฐานะบุพการี และบุตรธิดาปฏิบัติหน้าที่ต่อบิดามารดาในฐานะผู้มี
ความกตัญญูกตเวที อันจะขยายผลในระดับสังคมที่กว้างออกไป ความกตัญญูช่วยให้โลกอยู่รอดไม่มีปัญหา ปัญหาคนชราไม่มีคนเลี้ยง ปัญหาสงคราม ปัญหาความโหดร้ายทารุณ ปัญหาการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ ฯลฯ ก็จะหมดไป สภาวะสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติจะสมดุลไม่ถูกทำลาย คนมีความกตัญญูย่อมระลึกถึงบุญคุณของป่าไม้ ทุ่งนา แม่น้ำ ลำธาร ถนนหนทาง และสิ่งสาธารณประโยชน์อื่นๆ ฯลฯ ช่วยกันอนุรักษ์ บำรุง รักษาให้สิ่งเหล่านั้นคงอยู่ร่วมกับมนุษย์อย่างสมดุลและกลมกลืน
ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี
ภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของบุคคล
การกระทำหรือการแสดงพฤติกรรมของบุคคลที่เป็นไปตามความคาดหวังตามตำแหน่งในอาชีพหรือตำแหน่งที่สังคมกำหนดขึ้น ซึ่งโครงสร้างของบทบาทประกอบด้วย ลักษณะที่เฉพาะของแต่ละบุคคล การแสดงพฤติกรรมและตำแหน่งที่ครองอยู่ หรือพฤติกรรมที่คนในสังคมต้องทำตามสถานภาพในกลุ่มหรือสังคม
โดย บทบาท (Role) สามารถแยกได้ 4 ประเภทหลักดังนี้
1. บทบาทที่คาดหวัง (Role expectation) ทุกสังคมจะมีบทบาทให้ทุกคนปฏิบัติตามแต่ละสถานภาพ หรือเรียกว่า
2. บทบาทที่กระทำจริง (Role performance) ในชีวิตจริงทุกคนอาจไม่ได้ปฏิบัติตามบทบาทที่สังคมกำหนดไว้ เพราะต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์
3. บทบาทที่ขัดแย้ง (Role conflict) การอยู่ในสังคมทุกคนจะมีบทบาทที่ต้องกระทำแตกต่างกันหลายบทบาท การแสดงบทบาทหลายบทบาทในเวลาเดียวกัน
4. บทบาทที่ถูกบังคับ (Role strain) หากในการกระทำตามบทบาทนั้นเกิดความไม่เต็มใจที่จะทำตามบทบาทที่กำหนดไว้
การที่บุคคลมีบทบาทต่อสังคม และปฏิบัติตามหน้าที่ที่สังคมยอมรับ มีความสำคัญเป็นอันมาก เพราะทำให้การจัดระเบียบสังคมดีขึ้น เป็นการควบคุมสังคมให้เป็นระเบียบ ถ้าคนไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ตามบทบาทของตนในสังคมให้สมกับสถานภาพที่ได้รับ ก็จะทำให้สังคมเสียระเบียบ ทำให้เกิดปัญหาและความยุ่งยากให้แก่สังคม
แนวคิดเกี่ยวกับบทบาทซึ่งสรุปได้ว่า บทบาทจะต้องประกอบด้วยลักษณะ 4 ประการ ดังต่อไปนี้
1.1 รู้สภาพของตนในสังคม
1.2 คำนึงถึงพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้อื่น
1.3 คำนึงถึงพฤติกรรมที่เกี่ยวกับผู้อื่น และ
1.4 ประเมินผลการแสดงบทบาทของตนเอง
หน้าที่ (DUTY) หมายถึง ภาระรับผิดชอบของบุคคลที่จะต้องปฏิบัติ เช่น หน้าที่ของบิดาที่มีต่อบุตร เป็นต้นความสอดคล้องของสถานภาพและบทบาทของบุคคลที่มาของหน้าที่
1. ผลจากการที่คุณเป็นมนุษย์
2. ผลจากการที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนอื่น
3. เป็นหลักในการในความประพฤติหนึ่งของบุคคล
4. เป็นสิ่งคาดหวังของตนในการทำหน้าที่ตามคุณธรรม
ความรับผิดชอบ RESPONSIBILITY หมายถึง ลักษณะของบุคคลที่แสดงออกถึงความเอาใจใส่ จดจ่อตั้งใจ มุ่งมั่นต่อหน้าที่การงาน การศึกษาเล่าเรียน และการเป็นอยู่ของตนเอง และ ผู้อยู่ในความดูแล ตลอดจนสังคม อย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามความมุ่งหมายในเวลาที่กำหนด ยอมรับผลการกระทำทั้งผลดีและผลเสียที่เกิดขึ้น รวมทั้งปรับปรุงการปฏิบัติงานให้ดีขึ้นเป็นความผูกพันในการที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ และความสำเร็จนี้เกี่ยวข้องกับปัจจัย 3 ประการ คือ พันธะผูกพัน หน้าที่การงาน และวัตถุประสงค์แบ่งประเภทความรับผิดชอบไว้ดังนี้
1. ความรับผิดชอบต่อตนเอง หมายถึง
การรับรู้ฐานนะและบทบาทของตนที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมจะต้องดำรงตนให้อยู่ในฐานนะที่ช่วยเหลือตัวเองได้ รู้จักว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด ยอมรับผลการกระทำของตนเองทั้งที่เป็นผลดีและผลเสีย เพราะฉะนั้นบุคคลที่มีความรับผิดชอบในตนเองย่อมจะไตร่ตรองดูให้รอบคอบก่อนว่า สิ่งที่ตนเองทำลงไปนั้นจะมีผลดีผลเสียหรือไม่และจะเลือกปฏิบัติแต่สิ่งที่จะก่อให้เกิดผลดีเท่านั้น
2. ความรับผิดชอบต่อสังคม หมายถึง ภาระหน้าที่ของบุคคลที่จะต้องเกี่ยวข้อง และมีส่วนร่วมต่อสวัสดิภาพของสังคมที่ตนเองดำรงอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายสิ่งหลายอย่าง ตั้งแต่สังคมขนาดเล็ก ๆ จนถึงสังคมขนาดใหญ่ การกระทำของบุคคลใดบุคคลหนึ่งย่อมมีผลกระทบต่อสังคมไม่มากก็น้อย บุคคลทุกคนจึงต้องมีภาระหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องปฏิบัติต่อสังคม ดังต่อไปนี้
2.1 ความรับผิดชอบต่อหน้าที่พลเมือง ได้แก่
การปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคม การรักษาทรัพย์สินของสังคม การช่วยเหลือผู้อื่น และการให้ความร่วมมือกับผู้อื่น
2.2 ความรับผิดชอบต่อครอบครัว ได้แก่
การเคารพเชื่อฟังผู้ปกครอง การช่วยเหลืองานบ้านและการรักษาชื่อเสียงของครอบครัว
2.3 ความรับผิดชอบต่อโรงเรียน ได้แก่
ความตั้งใจเรียน การเชื่อฟังครู อาจารย์ การปฏิบัติตามกฎของโรงเรียนและการรักษาสมบัติของโรงเรียน
2.4 ความรับผิดชอบต่อเพื่อน ได้แก่ การช่วยตักเตือนแนะนำเมื่อเพื่อนกระทำผิด การช่วยเหลือเพื่อนอย่างเหมาะสม การให้อภัยเมื่อเพื่อนทำผิดการไม่ทะเลาะและ เอาเปรียบเพื่อน และการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน
บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบตามหลักศาสนา
ศาสนาพุทธ
ทิศ 6 : บุคคลประเภทต่างๆ ที่เราต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์ทางสังคม ดุจทิศที่อยู่รอบตัว 1. ปุรัตถิมทิศ (ทิศเบื้องหน้า คือ ทิศตะวันออก ได้แก่ มารดาบิดา เพราะเป็นผู้มีอุปการะแก่เรามาก่อน
ก. บุตรธิดาพึงบำรุงมารดาบิดา ผู้เป็นทิศเบื้องหน้า ดังนี้ 1) ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว เลี้ยงท่านตอบ 2) ช่วยทำการงานของท่าน 3) ดำรงวงศ์สกุล 4) ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาท 5) เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน
ข. บิดามารดาย่อมอนุเคราะห์บุตรธิดา ดังนี้ 1) ห้ามปรามจากความชั่ว 2) ให้ตั้งอยู่ในความดี 3) ให้ศึกษาศิลปวิทยา 4) หาคู่ครองที่สมควรให้ 5) มอบทรัพย์สมบัติให้ในโอกาสอันสมควร2. ทักขิณทิศ (ทิศเบื้องขวา คือ ทิศใต้ ได้แก่ ครูอาจารย์ เพราะเป็นทักขิไณยบุคคล ควรแก่การบูชาคุณ
ก. ศิษย์พึงบำรุงครูอาจารย์ ผู้เป็นทิศเบื้องขวา ดังนี้ 1) ลุกต้อนรับ 2) เข้าไปหา (เพื่อบำรุง คอยรับใช้ ปรึกษา และรับคำแนะนำ เป็นต้น) 3) ใฝ่ใจเรียน (คือ มีใจรัก เรียนด้วยศรัทธา และรู้จักฟังให้เกิดปัญญา) 4) ปรนนิบัติ ช่วยบริการ 5) เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ (คือ เอาจริงเอาจัง ถือเป็นกิจสำคัญ)
ข. ครูอาจารย์ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ ดังนี้ 1) ฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดี 2) สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง 3) สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง 4) ยกย่องให้ปรากฏในหมู่คณะ 5) สร้างเครื่องคุ้มภัยในสารทิศ (สอนฝึกให้รู้จักเลี้ยงตัวรักษาตนในอันที่จะดำเนินชีวิตต่อไปด้วยดี)3. ปัจฉิมทิศ (ทิศเบื้องหลัง ทิศตะวันตก ได้แก่ บุตรภรรยา เพราะติดตามเป็นกำลังสนับสนุนอยู่ข้างหลัง
ก. สามีบำรุงภรรยา ผู้เป็นทิศเบื้องหลัง ดังนี้ 1) ยกย่องให้เกียรติสมกับฐานะที่เป็นภรรยา 2) ไม่ดูหมิ่น 3) ไม่นอกใจ 4) มอบความเป็นใหญ่ในงานบ้านให้ 5) หาเครื่องประดับมาให้เป็นของขวัญตามโอกาส
ข. ภรรยาย่อมอนุเคราะห์สามี ดังนี้ 1) จัดงานบ้านให้เรียบร้อย 2) สงเคราะห์ญาติมิตรทั้งสองฝ่ายด้วยดี 3) ไม่นอกใจ 4) รักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้ 5) ขยันไม่เกียจคร้านในงานทั้งปวง4. อุตตรทิศ (ทิศเบื้องซ้าย ทิศเหนือ ได้แก่ มิตรสหาย เพราะเป็นผู้ช่วยให้ข้ามพ้นอุปสรรคภัยอันตราย และเป็นกำลังสนับสนุน ให้บรรลุความสำเร็จ
ก. บุคคลพึงบำรุงมิตรสหาย ผู้เป็นทิศเบื้องซ้าย ดังนี้ 1) เผื่อแผ่แบ่งปัน 2) พูดจามีน้ำใจ 3) ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน 4) มีตนเสมอ ร่วมสุขร่วมทุกข์กัน 5) ซื่อสัตย์จริงใจต่อกัน
ข. มิตรสหายย่อมอนุเคราะห์ตอบ ดังนี้ 1) เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาป้องกัน 2) เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์สมบัติของเพื่อน 3) ในคราวมีภัย เป็นที่พึ่งได้ 4) ไม่ละทิ้งในยามทุกข์ยาก 5) นับถือตลอดถึงวงศ์ญาติของมิตร5. เหฏฐิมทิศ (ทิศเบื้องล่าง ได้แก่ คนรับใช้และคนงาน เพราะเป็นผู้ช่วยทำการงานต่างๆ เป็นฐานกำลังให้
ก. นายพึงบำรุงคนรับใช้และคนงาน ผู้เป็นทิศเบื้องล่าง ดังนี้ 1) จัดการงานให้ทำตามความเหมาะสมกับกำลังความสามารถ 2) ให้ค่าจ้างรางวัลสมควรแก่งานและความเป็นอยู่ 3) จัดสวัสดิการดี มีช่วยรักษาพยาบาลให้ยามเจ็บไข้ เป็นต้น 4) ได้ของแปลกๆ พิเศษมา ก็แบ่งปันให้ 5) ให้มีวันหยุดและพักผ่อนหย่อนใจตามโอกาสอันควร
ข. คนรับใช้และคนงานย่อมอนุเคราะห์นาย ดังนี้ 1) เริ่มทำการงานก่อนนาย 2) เลิกงานทีหลังนาย 3) ถือเอาแต่ของที่นายให้ 4) ทำการงานให้เรียบร้อยและดียิ่งขึ้น 5) นำเกียรติคุณของนายไปเผยแพร่6. อุปริมทิศ (ทิศเบื้องบน ได้แก่ สมณพราหมณ์ คือ พระสงฆ์ เพราะเป็นผู้สูงด้วยคุณธรรม และเป็นผู้นำทางจิตใจ
ก. คฤหัสถ์ย่อมบำรุงพระสงฆ์ ผู้เป็นทิศเบื้องบน ดังนี้ 1) จะทำสิ่งใด ก็ทำด้วยเมตตา 2) จะพูดสิ่งใด ก็พูดด้วยเมตตา 3) จะคิดสิ่งใด ก็คิดด้วยเมตตา 4) ต้อนรับด้วยความเต็มใจ 5) อุปถัมภ์ด้วยปัจจัย 4
ข. พระสงฆ์ย่อมอนุเคราะห์คฤหัสถ์ ดังนี้ 1) ห้ามปรามจากความชั่ว 2) ให้ตั้งอยู่ในความดี 3) อนุเคราะห์ด้วยความปรารถนาดี 4) ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง 5) ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง 6) บอกทางสวรรค์ คือทางชีวิตที่มีความสุขความเจริญเห็นว่า บุคคลแต่ละคนย่อมจะมีความสัมพันธ์ต่อกันไม่โดยฐานะใดก็ฐานะหนึ่ง และความสัมพันธ์ขั้นมูลฐานในสังคมที่ควรจะได้รับการปรับปรุง
พัฒนามีอยู่ 5 ประการ
1. ความสัมพันธ์ระหว่าง ผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครอง
2. ความสัมพันธ์ระหว่าง บิดามารดากับบุตรธิดา
3. ความสัมพันธ์ระหว่าง สามีกับภรรยา
4. ความสัมพันธ์ระหว่าง ผู้น้อยกับผู้ใหญ่
5. ความสัมพันธ์ระหว่าง เพื่อนต่อเพื่อน
ในความสัมพันธ์ 5 ประการนี้มีหลักจริยธรรมสำหรับปฎิบัติในฐานะนั้นๆ คือ
ความสัมพันธ์ประเภทที่หนึ่ง เมตตา สุจริต จงรักภักดี
ความสัมพันธ์ประเภทที่สอง เมตตา กตัญญูกตเวที
ความสัมพันธ์ประเภทที่สาม รัก ซื่อสัตย์ รับผิดชอบในหน้าที่แห่งตน
ความสัมพันธ์ประเภทที่สี่ คารวธรรม
ความสัมพันธ์ประเภทที่ห้า ความจริงใจ
ลักษณะความสัมพันธ์
หลักการปฎิบัติต่อกัน
- ผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครอง
- เมตตา สุจริต จงรักภักดี
- บิดามารดากับบุตรธิดา
- กตัญญูกตเวที
- สามีกับภรรยา
- รัก ซื่อสัตย์ รับผิดชอบในหน้าที่แห่งตน
- ผู้น้อยกับผู้ใหญ่
- คารวะธรรม
- เพื่อนต่อเพื่อน
- ความจริงใจ
บรรณานุกรม
1. พระธรรมปิฎก, ป.อ. ปยุตฺโต (2539). พัฒนาวัฒนธรรมในตัวคนไทย. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
2. -----------. (2542). พุทธธรรม. (ฉบับปรับปรุงและขยายความ). พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
3. พุทธทาสภิกขุ. (2536). กตัญญูกตเวทีเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของโลก. กรุงเทพมหานคร : ธรรมสภา.
4. สมภพ ชีวรัฐพัฒน์. (2540). มงคลกับคุณภาพชีวิต. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพมหานคร: นานา สิ่งพิมพ์.