ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบเน้นประสบการณ์ผสานกลุ่มร่วมมือ
เพื่อส่งเสริมความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
ผู้วิจัย นางเกศสุดา เลือดกระโทก ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานสำหรับการพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบเน้นประสบการณ์ผสานกลุ่มร่วมมือ 2) ออกแบบและพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบเน้นประสบการณ์ 3) ทดลองใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบเน้นประสบการณ์ผสานกลุ่มร่วมมือ และ 4) ประเมินผลการใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบเน้นประสบการณ์ กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/2 โรงเรียนครบุรี ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 40 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยการสุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ 1) แผนการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบเน้นประสบการณ์ผสานกลุ่มร่วมมือ จำนวน 6 แผน 2) แบบทดสอบวัดความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ แบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ
3) แบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) มี 5 ระดับ จำนวน 19 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบสมมติฐานด้วยสถิติ t-test
(Dependent Samples)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลจากการศึกษาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบเน้นประสบการณ์ผสานกลุ่มร่วมมือ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนครบุรี จังหวัดนครราชสีมา มีประเด็นที่ค้นพบดังนี้
1.1 หลักการในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบเน้นประสบการณ์ผสานกลุ่มร่วมมือ ก็คือ การสร้างกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง ค้นหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย จนพบความรู้และรู้จักสิ่งที่ค้นพบ
ผ่านสื่อและกิจกรรม โดยเน้นกลวิธีการเรียนที่ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม และได้รับประสบการณ์ตรงในการใช้ภาษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งทางด้านการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนครูจะปรับเปลี่ยนบทบาทจากผู้ให้ความรู้มาเป็นผู้ช่วยเหลือ แนะนำ และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และเรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่มหรือเป็นทีมได้อย่างเป็นกัลยาณมิตร
1.2 ผลจากการสนทนากลุ่มกับครูผู้สอนภาษาอังกฤษ โรงเรียนครบุรี จำนวน 10 คน สามารถสรุปสาระสำคัญได้ 3 ประการ ดังนี้
1) ผู้เรียนมีความรู้พื้นฐานในวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำในทุกทักษะ เนื่องจากไม่เห็นความสำคัญของการใช้ภาษาอังกฤษ และขาดคุณลักษณะที่จำเป็นสำหรับการเรียนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร
2) ผู้สอนยังใช้วิธีสอนแบบครูเป็นศูนย์กลาง ไม่เน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ผู้เรียนไม่รู้จักวิธีการแสวงหาความรู้และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง
3) การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้รูปแบบการเรียนแบบเน้นประสบการณ์ผสานกลุ่มร่วมมือ สามารถช่วยพัฒนาความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารของนักเรียนได้ เนื่องจากเป็นการเรียนรู้โดยใช้สถานการณ์ในชีวิตจริง ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอนและได้รับประสบการณ์ตรงในการใช้ภาษา โดยสาระการเรียนรู้ที่นำมาใช้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนควรประกอบไปด้วยเรื่อง กิจวัตรประจำวัน อาหารและเครื่องดื่ม สุขภาพ การท่องเที่ยว สภาพอากาศ และกิจกรรมยามว่าง
2. รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบเน้นประสบการณ์ผสานกลุ่มร่วมมือ เพื่อพัฒนาความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่พัฒนาขึ้น
มีองค์ประกอบคือ หลักการ วัตถุประสงค์ สาระกระบวนการ กิจกรรมการเรียนรู้ สื่อและแหล่งการเรียนรู้ และการวัดผลประเมินผล ซึ่งมีกิจกรรมการเรียนรู้ 6 ขั้นตอน ได้แก่ 1) ขั้นสร้างประสบการณ์
2) ขั้นสะท้อนคิด 3) ขั้นสรุปหลักการ 4) ขั้นทดลองปฏิบัติจริง 5) ขั้นประยุกต์ใช้ 6) ขั้นวัดและประเมินผล และพบว่า รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบเน้นประสบการณ์ผสานกลุ่มร่วมมือ
มีประสิทธิภาพเท่ากับ 78.05 /76.11 ซึ่งมีประสิทธิภาพเป็นไปตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ 75/75
3. ความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ ด้วยรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบเน้นประสบการณ์ผสานกลุ่มร่วมมือ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนครบุรี มีความพึงพอใจต่อรูปแบบการจัดกิจกรรม
การเรียนรู้แบบเน้นประสบการณ์ผสานกลุ่มร่วมมือ โดยรวมอยู่ในระดับมาก