ชื่อผลงาน:การประเมินโครงการสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้สู่วิถีชีวิตพอเพียงของโรงเรียนทวารวดี
ผู้รายงาน นางสาววิลาสินี ชุณหะชา
ผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนทวารวดี อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครปฐม
เทศบาลนครนครปฐม
ปีที่รายงาน : ปีการศึกษา 2561
บทสรุปผู้บริหาร
การประเมินโครงการสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้สู่วิถีชีวิตพอเพียงของโรงเรียนทวารวดี มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อประเมินบริบทของโครงการ 2) เพื่อประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการ 3) เพื่อประเมินกระบวนการของโครงการ 4) เพื่อประเมินผลผลิตของโครงการ 4.1) การประเมินผลกระทบ 4.2) การประเมินประสิทธิผล 4.3) การประเมินความยั่งยืน 4.4) การประเมินการถ่ายทอดส่งต่อ
ประชากรที่ใช้ศึกษาในครั้งนี้ ประกอบด้วย คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 2 คน ครู จำนวน 24 คน ผู้ปกครอง จำนวน 264 คน และนักเรียน จำนวน 264 คน โรงเรียนทวารวดี สังกัดเทศบาลนครนครปฐม ในปีการศึกษา 2560 รวมทั้งหมด 561 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ใช้แบบประเมินจำนวน 4 ชุด อันประกอบด้วย
1. แบบสอบถามของการประเมิน เรื่อง ความรู้ความเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับผู้บริหารสถานศึกษา ครูและนักเรียน
2. แบบประเมินโครงการสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้สู่วิถีชีวิตพอเพียง ของโรงเรียนทวารวดี แบ่งออกเป็น
2.1 แบบประเมินโครงการสำหรับคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหารสถานศึกษาและครู
2.2 แบบประเมินโครงการสำหรับผู้ปกครองและนักเรียน
3. แบบสัมภาษณ์แนวคิด/ความคิดเห็นในการดำเนินงานโครงการ ใช้สัมภาษณ์คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหารสถานศึกษาและครู
สรุปผลการศึกษา
1. ด้านบริบทของโครงการสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้สู่วิถีชีวิตพอเพียง (Context) พิจารณาจากแบบประเมินฉบับที่ 1 พบว่าข้อมูลการประเมินระดับความรู้ความเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับผู้บริหารและครู โรงเรียนทวารวดี ปีการศึกษา 2560 โดยส่วนใหญ่อยู่ในระดับสูง และพิจารณาจากแบบประเมินฉบับที่ 2 ทั้งภาพรวมและรายข้ออยู่ในระดับมากที่สุด โดยในข้อการดำเนินงานโครงการมีความจำเป็นสำหรับการพัฒนาผู้เรียนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด เป็นลำดับแรก และข้อผู้ปกครองและชุมชนให้การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมตามโครงการ มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด เป็นลำดับสุดท้าย
2. ด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้สู่วิถีชีวิตพอเพียง (Input) พิจารณาจากแบบประเมินฉบับที่ 2 ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด และเมื่อพิจารณารายข้อพบว่าส่วนใหญ่อยู่ในระดับมากที่สุด โดยในข้อแผนการดำเนินงานมีความกระชับและครอบคลุมวัตถุประสงค์ของโครงการ มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด เป็นลำดับแรก และข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดในด้านคือ ข้องบประมาณที่ใช้ในการดำเนินโครงการมีความเหมาะสมและเพียงพอ ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก
3. ด้านกระบวนการของโครงการสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้สู่วิถีชีวิตพอเพียง (Process)
พิจารณาจากแบบประเมินฉบับที่ 2 ทั้งภาพรวมและรายข้ออยู่ในระดับมากที่สุด โดยในข้อมีเครื่องมือนิเทศ กำกับ ติดตามงานและมอบหมายผู้รับผิดชอบในการกำกับติดตามไว้ชัดเจนและเป็นระบบ มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด เป็นลำดับแรก และข้อการวางแผนการดำเนินการเป็นขั้นตอนที่ถูกต้อง ครอบคลุมและสามารถปฏิบัติได้จริง มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด เป็นลำดับสุดท้าย
4. ด้านผลผลิตของโครงการสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้สู่วิถีชีวิตพอเพียง (Product)
4.1 พิจารณาจากแบบประเมินฉบับที่ 2 (สำหรับคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหารและครู) ด้านผลผลิตในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุดและเมื่อพิจารณารายข้อพบว่าส่วนใหญ่อยู่ในระดับมากที่สุด โดยในข้อนักเรียนทุกคนมีส่วนร่วมในโครงการสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้สู่วิถีชีวิตพอเพียง มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด เป็นลำดับแรก และข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดในด้านคือ ข้อนักเรียนมีการเตรียมพร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณาจากส่วนที่มีการปรับขยายการประเมินออกเป็นด้านผลกระทบ (Impact Evaluation) ด้านประสิทธิผล (Effectiveness Evaluation) ด้านความยั่งยืน (Sustainability Evaluation) และด้านการถ่ายทอดส่งต่อโครงการ (Transportability Evaluation) สามารถสรุปผลการประเมินได้ดังนี้
ด้านผลกระทบของโครงการสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้สู่วิถีชีวิตพอเพียง(Impact) พิจารณาจากแบบประเมินฉบับที่ 2 ทั้งภาพรวมและรายข้ออยู่ในระดับมากที่สุด โดยในข้อการดำเนินงานโครงการช่วยปลูกฝังคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่นักเรียนและครูที่เข้าร่วมโครงการ มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด เป็นลำดับแรก และข้อการดำเนินโครงการทำให้เกิดกระบวนการพัฒนางาน/กิจกรรมของนักเรียนที่เป็นรูปแบบใหม่ สร้างสรรค์และเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันในระดับใด มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด เป็นลำดับสุดท้าย
ด้านประสิทธิผลของโครงการสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้สู่วิถีชีวิตพอเพียง (Effectiveness) พิจารณาจากแบบประเมินฉบับที่ 2 ทั้งภาพรวมและรายข้ออยู่ในระดับมากที่สุด โดยในข้อนักเรียนนำหลักการของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันและเกิดภูมิคุ้มกันที่ดี มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด เป็นลำดับแรก และข้อการดำเนินงานโครงการบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้และเห็นเป็นเชิงประจักษ์และข้อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีความพึงพอใจในการดำเนินงาน มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด เป็นลำดับสุดท้ายเท่ากัน
ด้านความยั่งยืนของโครงการสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้สู่วิถีชีวิตพอเพียง (Sustainability) พิจารณาจากแบบประเมินฉบับที่ 2 ทั้งภาพรวมและรายข้ออยู่ในระดับมากที่สุด โดยในข้อมีการดำเนินโครงการอย่างเป็นระบบสร้างความต่อเนื่องในการดำเนินงาน มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด เป็นลำดับแรก และข้อนักเรียนสามารถนำความรู้ไปต่อยอดและใช้ในชีวิตประจำวันอย่างยั่งยืน มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด เป็นลำดับสุดท้าย
ด้านการถ่ายทอดส่งต่อโครงการของโครงการสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้สู่วิถีชีวิตพอเพียง (Transportability Evaluation) พิจารณาจากแบบประเมินฉบับที่ 2 ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุดและเมื่อพิจารณารายข้อพบว่า ผลการดำเนินงานโครงการได้รับความสนใจ มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด เป็นลำดับแรก และข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดในด้านคือ มีการเผยแพร่ผลการดำเนินโครงการแก่ผู้ที่มีความสนใจ เป็นการต่อยอดการดำเนินงานโครงการ โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก
4.2 พิจารณาจากแบบประเมินฉบับที่ 3 (สำหรับผู้ปกครองและนักเรียน) ด้านผลผลิต (พิจารณาในข้อที่ 1-4) ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุดและเมื่อพิจารณารายข้อพบว่า นักเรียนทุกคนได้มีส่วนร่วมในโครงการสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้สู่วิถีชีวิตพอเพียง มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด เป็นลำดับแรก และข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดในด้านคือ นักเรียนมีการเตรียมพร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อตนเองและสังคม โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณาจากส่วนที่มีการปรับขยายการประเมินทั้ง 4 ด้าน จะสามารถสรุปผลการประเมินได้ดังนี้
ด้านผลกระทบของโครงการสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้สู่วิถีชีวิตพอเพียง (Impact) (พิจารณาในข้อที่ 6-7 และ 11-13) ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุดและเมื่อพิจารณารายข้อพบว่า นักเรียนได้รับการปลูกฝังให้ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด เป็นลำดับแรก และข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดในด้านคือ นักเรียนสามารถนำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปพัฒนางาน/กิจกรรมของนักเรียนที่เป็นรูปแบบใหม่ ได้อย่างสร้างสรรค์และเหมาะสม โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก
ด้านประสิทธิผลของโครงการสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้สู่วิถีชีวิตพอเพียง (Effectiveness Evaluation) (พิจารณาในข้อที่ 5, 14และ18-20) ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุดและเมื่อพิจารณารายข้อพบว่า ผู้ปกครองมีความชื่นชมและส่งเสริมนักเรียนที่ปฏิบัติตนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด เป็นลำดับแรก และข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดในด้านคือ นักเรียนมีความพึงพอใจในการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แต่ยังมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด
ด้านความยั่งยืน (Sustainability Evaluation) (พิจารณาในข้อที่ 8-10และ16) ในภาพรวมและรายข้ออยู่ในระดับมากที่สุดและเมื่อพิจารณารายข้อพบว่า นักเรียนเห็นประโยชน์และตระหนักในความสำคัญของการดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด เป็นลำดับแรก และข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดในด้านแต่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุดเช่นกันคือ นักเรียนมีการนำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างยั่งยืน
ด้านการถ่ายทอดส่งต่อโครงการ (Transportability Evaluation) (พิจารณาในข้อที่ 15และ17) ในภาพรวมและรายข้ออยู่ในระดับมากและเมื่อพิจารณารายข้อพบว่า นักเรียนมีการนำแนวคิดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปเผยแพร่แก่ผู้ที่มีความสนใจ เป็นการต่อยอดการดำเนินงานโครงการ มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก เป็นลำดับแรก และรองลงมาคือ นักเรียนสามารถนำความรู้และประสบการณ์จากโครงการไปถ่ายทอดให้แก่ผู้อื่นได้ โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากเช่นกัน
ข้อเสนอแนะเพื่อการศึกษาวิจัยครั้งต่อไป
1. ควรมีการส่งเสริมการนำโครงการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปศึกษาในกลุ่มโรงเรียนสังกัดเทศบาลนครนครปฐมทุกโรงเรียน เพื่อให้ประสิทธิภาพการจัดการศึกษาที่ดียิ่งขึ้น
2. ควรมีการวิจัยเชิงพัฒนาเกี่ยวกับการดำเนินโครงการ เพื่อให้ได้ข้อค้นพบที่เป็นปัจจัยสำคัญ ในการพัฒนาโครงการและการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแบบยั่งยืน