ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการผู้ปกครองช่วยสอนเสริมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
ของโรงเรียนเทศบาล ๑ บ้านตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี
ผู้ประเมิน ชุติพร สุระกำแหง
ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ
หน่วยงาน โรงเรียนเทศบาล ๑ บ้านตะลุบัน ตำบลตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี
ปีที่ศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การประเมินครั้งนี้ ผู้ประเมินได้ดำเนินการประเมินโครงการผู้ปกครองช่วยสอนเสริมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนเทศบาล ๑ บ้านตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี มีวัตถุประสงค์ของการประเมิน เพื่อประเมินความสอดคล้องด้านบริบท (Context Evaluation: C) ประเมินความพร้อมและเพียงพอด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation: I) ประเมินความเหมาะสมในการดำเนินการด้านกระบวนการ (Process Evaluation: p) และประเมินผลด้านผลผลิต (Product Evaluation: p) โครงการผู้ปกครองช่วยสอนเสริมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนเทศบาล ๑ บ้านตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ตามรูปแบบการประเมินโครงการ ซิป (CIPP Evaluation Model)
แหล่งข้อมูลที่ใช้ในการประเมิน ประกอบด้วย บุคลากร คณะกรรมการสถานศึกษา นักเรียน(นักเรียนระดับอนุบาลถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 6) และผู้ปกครองที่ร่วมโครงการ ดังนี้ บุคลากร ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา และคณะครู จำนวน 32 คน คณะกรรมการสถานศึกษาของโรงเรียน จำนวน 13 คน นักเรียนของโรงเรียน จำนวน 427 คน และ ผู้ปกครองที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 101 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อการประเมินโครงการครั้งนี้ ใช้เครื่องมือจำนวน 3 ชุดได้แก่ แบบสอบถามฉบับที่ 1 ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้บริหารสถานศึกษา ครู คณะกรรมการสถานศึกษาแบบสอบถามฉบับที่ 2 ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลจากนักเรียน และแบบสอบถามฉบับที่ 3 ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้ปกครอง
การเก็บรวบรวมข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์โดยใช้ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD)
ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้
1. ด้านสภาวะแวดล้อม (C:Context Evaluation) ตาม ความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษา คณะครูและคณะกรรมการสถานศึกษา นักเรียน และผู้ปกครอง พบว่า มีความเหมาะสมและสอดคล้อง ในภาพรวมอยู่ในระดับ มาก
2. ด้านปัจจัยนำเข้า (I:Input Evaluation) ตามความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน และคณะกรรมการสถานศึกษา นักเรียน และผู้ปกครองต่อระดับความพร้อมในการดำเนินโครงการฯ มีค่าความพร้อมอยู่ในระดับ มาก
3. ด้านกระบวนการ (P:Process Evaluation) ตามความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอนและคณะกรรมการสถานศึกษา นักเรียน และผู้ปกครองต่อระดับการมีส่วนร่วมในโครงการฯ มีค่าความพร้อมอยู่ในระดับ มาก ทั้ง 3 ขั้นตอน ได้แก่ การมีส่วนร่วมในการวางแผนโครงการ การมีส่วนร่วมในการดำเนินงานโครงการ และการมีส่วนร่วมในการสรุป ติดตาม และการนำผลการดำเนินงานโครงการฯ ไปพัฒนาปรับปรุงโครงการ
4. ด้านผลผลิต (P:Product Evaluation) ตามความคิดเห็นของ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษา นักเรียน และผู้ปกครอง มีระดับ ความพึงพอใจในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมโครงการฯ อยู่ในระดับ มาก
จากผลการประเมินโครงการผู้ปกครองช่วยสอนเสริมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนโรงเรียนเทศบาล ๑ บ้านตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี โดยใช้การประเมินรูปแบบ ซิป (CIPP Evaluation Model) การประเมิน 4 ด้าน ดังนี้ ด้านสภาวะแวดล้อม (Context) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) ด้านกระบวนการ (Process) ด้านผลผลิต (Product) ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดเกณฑ์ไว้คือ ความสอดคล้องเหมาะสม ความพร้อมและความพอเพียง การมีส่วนร่วมและความพึงพอใจ ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนด ทั้ง 4 ด้าน