ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการส่งเสริมรักการอ่านของโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลเชียงใหม่
ชื่อผู้ประเมิน นางดวงจันทร์ เจียงคง
ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การประเมินครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินสภาวะแวดล้อมของโครงการส่งเสริมรักการอ่านของโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลเชียงใหม่ 2) ประเมินปัจจัยเบื้องต้นของโครงการส่งเสริมรักการอ่านของโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลเชียงใหม่ 3) ประเมินกระบวนการในการดำเนินโครงการส่งเสริมรักการอ่านของโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลเชียงใหม่ และ 4) ประเมินผลผลิตในการดำเนินโครงการส่งเสริมรักการอ่านของโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลเชียงใหม่ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ได้จากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จำนวน 300 คน ได้แก่ ผู้บริหาร-ครู จำนวน
15 คนคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน/ตัวแทนชุมชน จำนวน 13 คน ผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ `1-6 จำนวน 136 คน และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1- 6 จำนวน 136 คน การประเมินโครงการใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์โมเดล (CIPP Model)เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน ได้แก่ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมิน พบว่า
1. ด้านสภาวะแวดล้อมของโครงการเกี่ยวกับความเหมาะสมการประเมินด้านจุดประสงค์สอดคล้องกับนโยบายของรัฐและโรงเรียน และสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน ตามความคิดเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษา พบว่า โดยรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดทุกรายข้อ เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า รายข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ โรงเรียนเป็นแบบอย่างในการจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของชุมชน
2. ด้านปัจจัยเบื้องต้นโครงการเกี่ยวกับความพร้อมหรือความเพียงพอเกี่ยวกับบุคลากร งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ อาคารสถานที่ ระยะเวลา และการจัดการตามความคิดเห็นของครู พบว่า โดยรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดทุกรายข้อ และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า รายข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ บุคลากรในโรงเรียนมีความสนใจ มีความรู้ความสามารถ และศักยภาพในการดำเนินโครงการ
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการโครงการเกี่ยวกับความพร้อมหรือความเพียงพอในการดำเนินโครงการในด้านการเตรียมการ การดำเนินการ การวัดประเมินผล ตามความคิดเห็นของครูพบว่า โดยรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมินทุกระยะ และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่ารายข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ แผนงาน/โครงการมีความสอดคล้องกับนโยบายด้านการส่งเสริมรักการอ่านของโรงเรียน
4. ผลการประเมินด้านผลผลิตของโครงการ ดังนี้
4.1 การประเมินด้านผลผลิตในเรื่องประสิทธิภาพของโครงการส่งเสริมรักการอ่านของโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลเชียงใหม่ จากกิจกรรม 3 กิจกรรมหลักคือ กิจกรรมส่งเสริมรักการอ่านในสถานศึกษา กิจกรรมส่งเสริมรักการอ่านนอกสถานศึกษา และกิจกรรมส่งเสริมรักการอ่านเพื่อการนำไปใช้ ตามความคิดเห็นของครูโดยภาพรวม มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากและเมื่อพิจารณาทั้ง 3 กิจกรรมหลัก พบว่า กิจกรรมส่งเสริมรักการอ่านเพื่อการนำไปใช้ มีค่าเฉลี่ยสูงสุด
4.2 ผลการประเมินพฤติกรรมรักการอ่านของนักเรียนตามโครงการส่งเสริมรักการอ่านของโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลเชียงใหม่ตามความคิดเห็นของผู้บริหาร-ครู โดยภาพรวมมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมากและเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า ทุกข้อมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมากและผ่านเกณฑ์การประเมินทุกรายข้อรายข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ นักเรียนอ่านและค้นคว้าหาความรู้จากอินเตอร์เน็ตได้ (Internet) ได้ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนด
4.3 ผลการประเมินความพึงพอใจของครูต่อโครงการส่งเสริมรักการอ่านของโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลเชียงใหม่ ตามความคิดเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน/ตัวแทนชุมชน โดยภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากและเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า ทุกรายข้อผ่านเกณฑ์การประเมินทุกรายข้อ รายข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือนักเรียนกระตือรือร้นหยิบหนังสือมาอ่านด้วยตนเอง มีความสนใจในการอ่านด้วยความเต็มใจโดยไม่มีใครบังคับ
4.4 ผลการประเมินความพึงพอใจของผู้ปกครองต่อโครงการส่งเสริมรักการอ่านของโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลเชียงใหม่ ตามความคิดเห็นของผู้ปกครอง โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากและเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า ทุกข้อมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนด
4.5 ผลการประเมินความพึงพอใจของนักเรียนต่อโครงการส่งเสริมรักการอ่านโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลเชียงใหม่ ตามความคิดเห็นของนักเรียน โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า ทุกข้อมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก รายข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือความรู้ที่ได้จากการอ่านสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนด