ชื่อเรื่อง กลยุทธ์พัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาตามทฤษฏีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ
โรงเรียนเทศบาลบ้านท้ายช้างเทศบาลเมืองพังงา จังหวัดพังงา
ผู้วิจัย นางสาวภรพิศ มธุรส
ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา
ปีที่ทำวิจัย 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพการจัดการศึกษาตามทฤษฏีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนเทศบาลบ้านท้ายช้าง 2) เพื่อพัฒนากลยุทธ์พัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาตามทฤษฏีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนเทศบาลบ้านท้ายช้าง 3) เพื่อใช้กลยุทธ์พัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาตามทฤษฏีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนเทศบาลบ้านท้ายช้าง 4) เพื่อประเมินผลการใช้กลยุทธ์พัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาตามทฤษฏีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนเทศบาลบ้านท้ายช้าง เป็นการวิจัยเชิง (R&D) มีวิธีการดำเนินการวิจัย 4 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาสภาพการจัดการศึกษาตามทฤษฏีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนเทศบาลบ้านท้ายช้าง โดยสังเคราะห์เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง นำข้อมูลมาสร้างแบบสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้อง กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตารางเครซี่และมอร์แกน จำนวน 333 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครองนักเรียน นำข้อมูลมาวิเคราะห์ และสัมภาษณ์ผู้บริหาร ครูผู้สอน เพื่อนำข้อมูลวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกและภายในของการจัดการศึกษาตามทฤษฏีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนเทศบาลบ้านท้ายช้าง วิเคราะห์เนื้อหาโดยใช้ ตาราง TOWS Matrix โดยใช้ SWOT Analysis ขั้นตอนที่ 2 จัดทำกลยุทธ์พัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาตามทฤษฏีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยนำขั้นตอนที่ 1 มาจัดทำกลยุทธ์ และตรวจสอบความเหมาะสม และความเป็นไปได้ของกลยุทธ์ โดยการสัมมนาอิงผู้เชี่ยวชาญ ประเมินความเหมาะสม และความเป็นไปได้โดยผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน ขั้นตอนที่ 3 นำกลยุทธ์พัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาตามทฤษฏีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไปใช้ ขั้นตอนที่ 4 ประเมินการใช้กลยุทธ์พัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาตามทฤษฏีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยประเมินการใช้ กลยุทธ์พัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาตามทฤษฏีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เก็บรวบรวมข้อมูลจาก ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน รวมทั้งสิ้น 15 คน สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์เนื้อหาและการแจกแจงความถี่ ผู้วิจัยร่างกลยุทธ์จากตาราง TOWS Matrix โดยใช้ SWOT Analysis
ผลการวิจัยพบว่า
1) สภาพการจัดการศึกษาตามทฤษฏีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนเทศบาลบ้านท้ายช้าง ตามขอบข่ายการบริหารงานทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ 1)บริหารจัดการสถานศึกษา 2)พัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน 3) กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน 4)พัฒนาบุคลากรครู และ 5)ผลลัพธ์/ภาพอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนสภาพแวดล้อมภายนอกและภายในของการจัดการศึกษาตามทฤษฏีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนเทศบาลบ้านท้ายช้าง เป็นโอกาส คือ โรงเรียนได้รับการสนับสนุนและงบประมาณจากต้นสังกัด บุคลากรได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ส่วนสภาพแวดล้อมภายนอกที่เป็นภาวะคุกคาม คือ ปัญหาของครอบครัวนักเรียนและยังขาดความร่วมมือจากเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง สำหรับสภาพแวดล้อมภายในที่เป็นจุดแข็ง คือ ผู้บริหารมีภาวะผู้นำ มีวิสัยทัศน์ และมีความสามารถในการบริหารงานและสภาพแวดล้อมภายในที่เป็นจุดอ่อนคือ นักเรียนขาดความสนใจเนื่องจากปัญหาของครอบครัว ขาดครู ขาดวัสดุ สื่ออุปกรณ์ ขาดการนิเทศ
2) กลยุทธ์พัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาตามทฤษฏีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนเทศบาลบ้านท้ายช้าง มีการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์ และจัดทำแผนพัฒนาร่วมกัน มีกลยุทธ์การพัฒนา ประกอบด้วย 4 กลยุทธ์ ได้แก่ (1) พัฒนาเครือข่ายการจัดการศึกษาเน้นการมีส่วนร่วม (2) พัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ (3) พัฒนาบุคลากรครู (4)เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงาน มีการประเมินความเหมาะสมและความเป็นไปได้อยู่ในระดับมาก
3) ผลการทดลองใช้กลยุทธ์พัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาตามทฤษฏีปรัชญาเศรษฐกิจ
พอเพียงโรงเรียนเทศบาลบ้านท้ายช้าง พบว่า ได้นำกลยุทธ์สู่การปฏิบัติ ดำเนินการเพื่อให้เกิดผลตาม วิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์ กลยุทธ์ 4 กลยุทธ์ มีโครงการทั้งสิ้น 20 โครงการ ดำเนินงานตามโครงการเสร็จสิ้นในหนึ่งปีการศึกษา นำไปใช้ ในขอบข่ายการบริหารงานการจัดการศึกษาตามทฤษฏีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อย่างครอบคลุม ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการดำเนินงานตามขั้นตอน มีการวางแผนการบริหารงาน มีการ ติดตาม นิเทศ ตรวจสอบ ประเมินผล รายงานผล และนำผลการประเมินไปใช้ ทำให้การจัดการศึกษาตามทฤษฏีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนเทศบาลบ้านท้ายช้าง เป็นไปอย่างเป็นระบบ และมีคุณภาพ
4) ผลการประเมินการใช้กลยุทธ์พัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาตามทฤษฏีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนเทศบาลบ้านท้ายช้าง พบว่า มีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก