ชื่อเรื่อง การศึกษาผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนอุบลวิทยาคม
ชื่อผู้รายงาน นางพิชญา หมทอง
หน่วยงานที่สังกัด โรงเรียนอุบลวิทยาคม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 1
ปีที่รายงาน 2561
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ที่เน้นการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และเพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ หน่วยการเรียนรู้ เรื่องการบวก การลบ การคูณ การหาร ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ก่อนและหลังเรียนโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ที่เน้นการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ โดยศึกษาจากนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนอุบลวิทยาคม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 1 จำนวน 40 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองปฏิบัติจริง ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ที่เน้นการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ หน่วยการเรียนรู้เรื่อง การบวก การลบ การคูณ การหาร จำนวน 20 แผน 2) เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติ ได้แก่ แบบบันทึกการสังเกตการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ แบบบันทึกผลการใช้แผนการจัดการเรียนรู้ แบบบันทึกประสบการณ์การเรียนของนักเรียน แบบทดสอบย่อยท้ายวงจร เป็นแบบทดสอบ วัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ เมื่อสิ้นสุดการเรียนในแต่ละวงจร จำนวน 4 ชุด 3) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน ประสิทธิภาพของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ หน่วยการเรียนรู้เรื่อง การบวก การลบ การคูณ การหาร ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เป็นแบบทดสอบปรนัยชนิด 4 ตัวเลือก จำนวน 40 ข้อ แบบทดสอบวัดความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ ประกอบด้วยแบบทดสอบย่อยจำนวน 6 ฉบับ คือ ฉบับที่ 1 แบบทดสอบวัดความคิดสร้างสรรค์ด้านสัญลักษณ์แบบความสัมพันธ์ ฉบับที่ 2 แบบทดสอบวัดความคิดสร้างสรรค์ด้านสัญลักษณ์แบบระบบ ฉบับที่ 3 แบบทดสอบวัดความคิดสร้างสรรค์ ด้านสัญลักษณ์แบบประยุกต์ ฉบับที่ 4 แบบทดสอบวัดความคิดสร้างสรรค์ด้านภาษาแบบความสัมพันธ์ ฉบับที่ 5 แบบทดสอบวัดความคิดสร้างสรรค์ด้านภาษาแบบระบบ และฉบับที่ 6 แบบทดสอบวัดความคิดสร้างสรรค์ด้านภาษาแบบประยุกต์
การศึกษาครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ เริ่มจากการปฐมนิเทศ การทดสอบก่อนเรียนด้วยแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและแบบทดสอบวัดความคิดสร้างสรรค์ จึงดำเนินการสอน โดยแบ่งออกเป็น 4 วงจรปฏิบัติการวิจัย ประกอบด้วย วงจรที่ 1 จากแผนการจัดการเรียนรู้ที่ 1 3 วงจรที่ 2 จากแผนการจัดการเรียนรู้ที่ 4 8 วงจรที่ 3 จากแผนการจัดการเรียนรู้ที่ 9 15 และวงจรที่ 4 จากแผนการจัดการเรียนรู้ที่ 16 20 การปฏิบัติการวิจัยในแต่แผน ผู้ศึกษาจะบันทึกเหตุการณ์ที่ได้พบเห็นในชั้นเรียนลงในแบบบันทึกการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เมื่อสอนจบในแต่ละวงจร จะทำการทดสอบย่อยวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ทดสอบวัดความสามารถด้านความคิดสร้างสรรค์ จากนั้นจึงนำข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากการบันทึกการสังเกต การสัมภาษณ์ มาวิเคราะห์สภาพปัญหา และแนวทางการแก้ไข เพื่อทำการปรับปรุงให้ดีขึ้นในการปฏิบัติการวิจัยในวงจรต่อไป เมื่อปฏิบัติการวิจัยครบทุกวงจรแล้วทำการทดสอบหลังเรียนด้วยแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และแบบทดสอบวัดความคิดสร้างสรรค์ หลังจากนั้นนำคะแนนที่ได้จากการทดสอบหลังเรียนเปรียบเทียบกับคะแนนที่ได้จากแบบทดสอบก่อนเรียน
ผลการวิจัย
1. นักเรียนสามารถพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์และความคิดสร้างสรรค์ ในการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์โดยใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ที่เน้นการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ตามขั้นตอน ดังนี้
1. ขั้นทบทวนความรู้เดิม
2. ขั้นสอน ขั้นสอนนี้กิจกรรมจะแบ่งตามลักษณะองค์ประกอบทางคณิตศาสตร์ คือ
ส่วนที่เป็นมโนมติ ทักษะและโจทย์ปัญหา โดยมีกระบวนการสอนดังนี้
ขั้นที่ 1 เผชิญปัญหาและทดสอบปัญหาจนเข้าใจ
ขั้นที่ 2 เสนอวิธีแก้ปัญหาที่อาจเป็นไปได้
ขั้นที่ 3 ตรวจสอบความกระจ่างและความถูกต้องของวิธีการแก้ปัญหา
ขั้นที่ 4 ทดสอบและยอมรับวิธีการแก้ปัญหา
3. ขั้นสรุป เป็นการสรุปแนวคิด หลักการ ความคิดรวบยอด หรือวิธีการแก้ปัญหา
จากการเรียน
4. ขั้นฝึกทักษะ ฝึกแก้ปัญหาด้วยวิธีการแก้ปัญหาที่หลากหลาย โดยการทำแบบฝึกทักษะ
จากบทเรียน
5. ขั้นวัดและประเมินผล
2. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่เรียนโดยใช้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ที่เน้นการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ หน่วยการเรียนรู้ เรื่องการบวก การลบ การคูณ การหาร มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่เรียนโดยใช้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ที่เน้นการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ หน่วยการเรียนรู้ เรื่องการบวก การลบ การคูณ การหาร มีความสามารถในการคิดสร้างสรรค์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
กิตติกรรมประกาศ
รายงาน การศึกษาผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และผลสัมฤทธิ์
ทางการเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนอุบลวิทยาคม ฉบับนี้ สำเร็จลงได้ด้วยดี เพราะความกรุณาและความช่วยเหลือเป็นอย่างดียิ่งจากนายอภัย สบายใจ ผู้อำนวยการโรงเรียนอุบลวิทยาคม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 1 ที่ได้ให้ความช่วยเหลือ เอาใจใส่ ให้คำปรึกษาเป็นอย่างดี ตลอดจนให้เสนอแนะแนวทางในการพัฒนาผลงานทางวิชาการ การจัดทำรายงานให้ถูกต้อง สมบูรณ์ และให้กำลังใจตลอดมาโดยตลอด ผู้รายงานรู้สึกซาบซึ้งและขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งมา ณ โอกาสนี้
ขอกราบขอบพระคุณ คณะผู้เชี่ยวชาญที่กรุณาตรวจสอบเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือดร. อังกูร สมคะเนย์ ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 1 ดร.นัฐกิตติ์ สวัสดิ์ไธสง อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี นายประเสริฐศักดิ์ มูลสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนเชี่ยวชาญ โรงเรียนบ้านน้ำอ้อมผักระย่า อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 1 นางวัลลภา บุญวิเศษ ครูเชี่ยวชาญ โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา 29 และ นายอภัย สบายใจ ผู้อำนวยการโรงเรียนเชี่ยวชาญ โรงเรียนอุบลวิทยาคม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 1 ที่ได้อนุเคราะห์ตรวจสอบเครื่องมือในการเก็บข้อมูลและได้กรุณาให้คำแนะนำ ข้อเสนอแนะ และตรวจแก้ไขข้อบกพร่องในการเขียนรายงานผลการศึกษาดังกล่าวนี้ด้วยความเอาใจใส่มาโดยตลอดตั้งแต่ต้น จนสำเร็จตามวัตถุประสงค์
ขอขอบคุณคณะครูและบุคลากรของโรงเรียน อุบลวิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานีเขต 1 ทุกคน ที่ได้ให้ความร่วมมือในการศึกษาจนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และขอขอบใจนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียน อุบลวิทยาคม ที่ให้ความร่วมมือในการทดลอง เครื่องมือเป็นอย่างดี
คุณค่าและประโยชน์ของการศึกษานี้ ขอมอบเป็นเครื่องบูชาพระคุณอันยิ่งใหญ่ของบิดา มารดา ครูอาจารย์ทุกท่าน ที่ให้การประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ ตลอดจนให้การสนับสนุนทุกอย่าง ทำให้รายงานฉบับนี้เสร็จสมบูรณ์ด้วยดี หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารายงานฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสืบไป
พิชญา หมทอง