ผู้วิจัย นางณัฐารัชต์ เดโชสวัสดิ์เพชร ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนเทศบาลบ้านสามเหลี่ยม สำนักการศึกษา เทศบาลนครขอนแก่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
ปีที่พิมพ์ 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนารูปแบบการสอนโดยใช้สมองเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เรื่อง เงินและการบันทึกรายรับรายจ่าย 2) ศึกษาผลการใช้รูปแบบการสอนโดยใช้สมองเป็นฐานเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เรื่อง เงินและการบันทึกรายรับรายจ่าย การวิจัยเป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/1 โรงเรียนเทศบาลบ้านสามเหลี่ยม สำนักการศึกษา เทศบาลนครขอนแก่น ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 37 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐานเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 3) แบบทดสอบวัดความสามารถในการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ และ 4) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (t-test) แบบ Dependent และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการสอนโดยใช้สมองเป็นฐานเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เรื่อง เงินและการบันทึกรายรับรายจ่าย มีชื่อว่า SCPEE Model มีองค์ประกอบ คือ 1) หลักการ 2) วัตถุประสงค์ 3) เนื้อหาที่ใช้ในการเรียนการสอน 4) ระบบสนับสนุน 5) ขั้นตอนการสอน 6) การประเมินผล และ 7) ผลการนำไปใช้ ซึ่งขั้นตอนการสอนมี 5 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นกระตุ้นการเรียนรู้ (Stimulation of Learning : S) 2) ขั้นเชื่อมโยงความรู้ (Connection of Knowledge : C) 3) ขั้นฝึกทักษะการแก้ปัญหา (Practice Problem Solving : P) 4) ขั้นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Exchange of Knowledge : E) 5) ขั้นประเมินผล (Evaluation : E) โดยรูปแบบการสอนมีความสอดคล้องทุกองค์ประกอบ
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 หลังเรียนโดยใช้รูปแบบการสอนโดยใช้สมองเป็นฐานเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ สูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
3. ความสามารถในการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีจำนวนนักเรียนผ่านเกณฑ์คิดเป็นร้อยละ 86.49 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
4. ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อรูปแบบการสอนโดยใช้สมองเป็นฐานเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ อยู่ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย = 4.52, S.D. = 0.53)