วิจัยในชั้นเรียน
ชื่อเรื่อง ผลของการพัฒนาและเสริมสร้างทักษะการหาพื้นที่ของรูปสี่เหลี่ยม
ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนองค์การสวนยาง 3 โดยใช้ที่คั่นหนังสือช่วยจำ
ปัญหาและสาเหตุ
จากการเรียนการสอนในชั้นเรียนเรื่องการหาพื้นที่สี่เหลี่ยม ผู้วิจัยได้พบว่านักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 9 คน ไม่คิดคำนวณหาพื้นที่ของรูปสี่เหลี่ยมได้ เนื่องจากไม่สามารถบอกสูตรของการหาพื้นที่สี่เหลี่ยมได้ ผู้วิจัยจึงได้คิดหาวิธีการที่จะทำให้นักเรียนจดจำสูตรพื้นที่สี่เหลี่ยมและสามารถคิดคำนวณหาพื้นที่ได้ โดยให้นักเรียนจัดทำที่คั่นหนังสือช่วยจำ
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1. เพื่อให้นักเรียนจดจำสูตรพื้นที่สี่เหลี่ยมได้
2. เพื่อให้นักเรียนสามารถคิดคำนวณหาพื้นที่สี่เหลี่ยมได้
3. เพื่อบูรณาการงานศิลปะกับวิชาคณิตศาสตร์
4. เพื่อเสริมสร้างเจตคติที่ดีต่อวิชาคณิตศาสตร์ให้แก่นักเรียน มีความกระตือรือร้นในการเรียน
วิธีการวิจัย
1. กลุ่มเป้าหมาย นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 9 คน
2. วิธีการและนวัตกรรมที่ใช้
2.1 จัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาทักษะการหาพื้นที่สี่เหลี่ยม ดังนี้
- ให้นักเรียนหาข้อมูลสูตรพื้นที่สี่เหลี่ยมจากแหล่งเรียนรู้ที่นักเรียนรู้จัก เช่น หนังสือในห้องสมุด สืบค้นจากอินเทอร์เน็ต สอบถามจากเพื่อนและครู
- ให้นักเรียนจัดทำที่คั่นหนังสือ ที่มีสองด้าน ด้านหน้าให้นักเรียนเขียนชื่อ , ด้านหลังเขียนสูตรการหาพื้นที่สี่เหลี่ยม โดยตกแต่งด้วยสีให้สวยงามและให้นักเรียนแลกเปลี่ยนกันตรวจสอบความถูกต้องของสูตรการหาพื้นที่สี่เหลี่ยม
- นักเรียนและครูร่วมกัน หาเทคนิคการจดจำสูตร โดยฝึกให้นักเรียนสังเกตคุณสมบัติของรูปสี่เหลี่ยมต่าง ๆ
- ครูให้นักเรียนฝึกท่องสูตรพื้นที่ โดยวิธีการเพื่อนช่วยเพื่อน
- ครูทำการทดสอบนักเรียน โดยการให้ท่องสูตรการหาพื้นที่กับครูทีละคน
- ครูให้นักเรียนทำแบบฝึกหัดเกี่ยวกับการหาพื้นที่ คิดคำนวณหาพื้นที่จากง่ายไปยาก
2.2 แบบทดสอบการหาพื้นที่สี่เหลี่ยม
3. วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล
1. สังเกตพฤติกรรมของนักเรียนในขณะจัดทำที่คั่นหนังสือ
2. สังเกตผลงานการทำที่คั่นหนังสือ
3. สังเกตพฤติกรรมของนักเรียนในการกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน
4. สังเกตการมีส่วนร่วมในการคิดหาเทคนิคในการจดจำสูตรพื้นที่สี่เหลี่ยม
5. คะแนนการท่องสูตรพื้นที่สี่เหลี่ยม
6. รวบรวมข้อมูลจากแบบฝึกหัดการหาพื้นที่สี่เหลี่ยม
7. รวบรวมข้อมูลจากแบบทดสอบการหาพื้นที่สี่เหลี่ยม
4. การวิเคราะห์ข้อมูล
1. สังเกตความถูกต้องและความแม่นยำในการท่องสูตรการหาพื้นที่สี่เหลี่ยมของนักเรียน
2. วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการคำนวณ จากคะแนนแบบฝึกหัด
3. วิเคราะห์คะแนนจากแบบทดสอบ ทั้งก่อนและหลังร่วมกิจกรรมพัฒนาทักษะการหาพื้นที่ของรูปสี่เหลี่ยม โดยใช้ค่าเฉลี่ยร้อยละ
5. ช่วงเวลาดำเนินงาน
25 สิงหาคม 2560 30 สิงหาคม 2560
6. ผลการวิเคราะห์ข้อมูล
- จากการให้นักเรียนจัดทำที่คั่นหนังสือช่วยจำ นักเรียนมีความกระตือรือร้นในการหาข้อมูล
นักเรียนสามารถจัดทำที่คั่นหนังสือได้ถูกต้องและสวยงาม และจากการให้นักเรียนท่อง
สูตรพื้นที่สี่เหลี่ยม ในครั้งที่ 1 นักเรียน จำนวน 6 คนสามารถท่องได้ แต่นักเรียนจำนวน
3 คน สามารถท่องได้ถูกต้องในครั้งที่ 2
- หลังจากที่นักเรียนสามารถท่องสูตรการหาพื้นที่ได้แล้ว ผู้วิจัยจึงให้นักเรียนทำแบบฝึกหัด
การหาพื้นที่จากง่าย ไปยาก ซึ่งนักเรียนสามารถคิดคำนวณหาพื้นที่ได้
- จากการวิเคราะห์ข้อมูลของคะแนนแบบทดสอบเรื่องการหาพื้นที่สี่เหลี่ยม
นักเรียนได้คะแนนหลังเรียนมากกว่าก่อนเรียน
สรุปและสะท้อนผล
จากการพัฒนาและเสริมสร้างทักษะการหาพื้นที่ของรูปสี่เหลี่ยม ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนองค์การสวนยาง 3 โดยใช้ที่คันหนังสือช่วยจำ พบว่านักเรียนมีความสุขการทำสื่อช่วยจำใช้เอง และนักเรียนสามารถจดจำสูตรของการหาพื้นที่สี่เหลี่ยมได้ ทำให้สามารถคิดคำนวณเกี่ยวกับการหาพื้นที่สี่เหลี่ยมได้อย่างรวดเร็ว และถูกต้อง อีกทั้งนักเรียนมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้และมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนคณิตศาสตร์มากยิ่งขึ้น
ข้อเสนอแนะ
1. เพื่อเป็นแนวทางในการช่วยจำ สามารถประยุกต์ใช้ในการเรียนเรื่องอื่นๆ ได้ เช่นพื้นที่ผิวและปริมาตรของนักเรียนชั้นม.3
2. เพื่อให้นักเรียนมีความคงทนในการเรียนรู้ ครูควรเน้นแบบฝึกทักษะควบคู่กับการใช้ที่คั่นหนังสือช่วยจำ