ชื่อเรื่อง การพัฒนาเอกสารประกอบการเรียน รายวิชา การเขียนโปรแกรม scratch
เรื่อง การเขียนโปรแกรม scratch สำหรับผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ผู้ศึกษาค้นคว้า สาธิยา สารเถื่อนแก้ว
ที่ปรึกษา ทัศนีย์ ต๊ะปัญญา
คำสำคัญ เอกสารประกอบการเรียน, การเขียนโปรแกรม scratch
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย 3 ประการ ประกอบด้วย 1) เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพเอกสารประกอบการเรียน เรื่อง การเขียนโปรแกรม scratch รายวิชาการเขียนโปรแกรม scratch (ง20214) สำหรับผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ตามเกณฑ์ 80/80 โดยให้ผู้เชี่ยวชาญจำนวน 5 ท่าน พิจารณาความเหมาะสมในองค์ประกอบต่างๆ ของเอกสารประกอบการเรียนแล้วนำเอกสารประกอบการเรียนไปทดลองใช้กับนักเรียนโรงเรียนท่าปลาประชาอุทิศ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องด้านภาษาเนื้อหา เวลา และ ประสิทธิภาพของเอกสารประกอบการเรียน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ ค่าเฉลี่ย (x ̅) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และค่า E1/ E2 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังใช้เอกสารประกอบการเรียน เรื่อง การเขียนโปรแกรม scratch รายวิชาการเขียนโปรแกรม scratch (ง20214) สำหรับผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กลุ่มตัวอย่างคือผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนท่าปลา- ประชาอุทิศ จำนวน 25 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) แบบแผนการวิจัย คือ แบบแผนการทดลองแบบกลุ่มเดียว ทดสอบก่อนเรียน หลังเรียน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย (x ̅) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) สถิติทดสอบ t-test แบบ Dependent 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ โดยการใช้เอกสารประกอบการเรียน เรื่อง การเขียนโปรแกรม scratch รายวิชาการเขียนโปรแกรม scratch (ง20214) สำหรับผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนท่าปลาประชาอุทิศ จำนวน 25 คน เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบประเมินความพึงพอใจ แบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ ค่าเฉลี่ย (x ̅) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการสร้างและหาประสิทธิภาพของเอกสารประกอบการเรียนเรื่อง การเขียนโปรแกรม scratch สำหรับผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 82.06/80.90 แสดงว่า เอกสารประกอบการเรียน ที่สร้างขึ้นมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ 80/80
2. ผลการทดลองใช้เอกสารประกอบการเรียน เรื่อง การเขียนโปรแกรม scratch สำหรับผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนท่าปลาประชาอุทิศ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนเพิ่มขึ้นจากก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เป็นไปตามสมมติฐานของการวิจัยที่ตั้งไว้
3. ผลศึกษาความพึงพอใจของผู้เรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ โดยใช้เอกสาร
ประกอบการเรียน การเขียนโปรแกรม scratch สำหรับผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนท่าปลาประชาอุทิศพบว่า ผู้เรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้ โดยใช้เอกสารประกอบการเรียนอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.52