จากการประเมินคุณภาพของนักเรียน พบว่า นักเรียนโรงเรียนวัดประมุง (แจ่มราษฎร์รังสรรค์) ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยอยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจและนักเรียนส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องการอ่าน ผู้ศึกษาจึงได้พัฒนาหนังสือส่งเสริมการอ่านเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งในการศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาหนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุดคุณธรรมพื้นฐาน สรรสร้างเด็กดี เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาไทย ด้านการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดประมุง(แจ่มราษฎร์รังสรรค์) 2) เพื่อหาประสิทธิภาพหนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุดคุณธรรมพื้นฐาน สรรสร้างเด็กดี เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาไทย ด้านการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดประมุง (แจ่มราษฎร์รังสรรค์) ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 3)เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาไทย ด้านการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดประมุง (แจ่มราษฎร์รังสรรค์) หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนโดยใช้หนังสือส่งเสริมการอ่าน 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจต่อการเรียน หลังเรียนด้วยหนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุดคุณธรรมพื้นฐาน สรรสร้างเด็กดี เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาไทย ด้านการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดประมุง(แจ่มราษฎร์รังสรรค์)
วิธีการศึกษาเป็นการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนที่ได้ประยุกต์ใช้แบบแผนการวิจัยเชิงทดลองเบื้องต้น (Pre-experimental design) แบบที่มีกลุ่มตัวอย่างกลุ่มเดียว และมีการทดสอบก่อนและหลังการทดลอง (One group pretest-posttest design) โดยใช้การทดสอบค่าทีแบบกลุ่มไม่อิสระ (กลุ่มสัมพันธ์) Dependent Sample t-test หรือ Paired - Samples t-test
ประชากรที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียน วัดประมุง(แจ่มราษฎร์รังสรรค์) ปีการศึกษา 2560 จำนวนทั้งหมด 15 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง กลุ่มตัวอย่างในการวิจัย คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดโพธิ์ทอง โรงเรียนวัดประมุง(แจ่มราษฎร์รังสรรค์) และโรงเรียนวัดนาค ปีการศึกษา 2559 เป็นกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ทดลองหาประสิทธิภาพของหนังสือส่งเสริมการอ่าน ได้มาจากการสุ่มแบบง่าย (Simple Random Sampling) ได้แก่ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทดลองหาประสิทธิภาพของหนังสือส่งเสริมการอ่านโดยการทดลองแบบเดี่ยว จำนวน 3 คน การทดลองแบบกลุ่มเล็ก จำนวน 10 คน และการทดลองภาคสนาม จำนวน 30 คน ได้มาจากการสุ่มแบบง่าย
เครื่องมือการวิจัยได้แก่ 1) แผนการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ด้านการอ่านคิดวิเคราะห์ หน่วยที่ 5 เรื่อง คุณธรรมพื้นฐาน สรรสร้างเด็กดี จำนวน 8 แผน 2) หนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุดคุณธรรมพื้นฐาน สรรสร้างเด็กดี 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 1 ฉบับ มีข้อสอบ 50 ข้อ 4) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียน แบบมาตรฐานส่วนประมาณค่า จำนวน 1 ฉบับ มีข้อคำถาม 10 ข้อ
สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ใช้ค่าร้อยละ (Percentage) และค่าเฉลี่ย (Mean) เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของของหนังสือส่งเสริมการอ่าน เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้การทดสอบค่าทีแบบกลุ่มไม่อิสระ (กลุ่มสัมพันธ์) Dependent Sample t-test หรือ Paired - Samples t-test และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) วิเคราะห์ระดับความพึงพอใจของนักเรียนด้วยค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยปรากฏผลดังนี้
1. หนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด คุณธรรมพื้นฐาน สรรสร้างเด็กดี ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดประมุง (แจ่มราษฎร์รังสรรค์) จำนวน 8 เล่ม มีคุณภาพและประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด โดยมีค่าดัชนีประสิทธิผลจากการทดลองแบบเดี่ยว(0.6400) แบบกลุ่ม (0.6292) ภาคสนาม (0.6609) และประชากรกลุ่มเป้าหมาย (0.6866) ซึ่งในการทดลอง ทุกครั้งมีค่าเท่ากับ 0.50 แสดงว่า หนังสือส่งเสริมการอ่านมีผลทำให้นักเรียนมีความก้าวหน้าในการเรียนรู้ และมีความก้าวหน้าในการเรียนรู้เพิ่มขึ้น
2. ประสิทธิภาพของหนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด คุณธรรมพื้นฐาน สรรสร้างเด็กดีของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดประมุง(แจ่มราษฎร์รังสรรค์) จากการทดลองภาคสนามมีค่าประสิทธิภาพเท่ากับ 81.46/82.63 เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่ตั้งไว้คือ 80/80 และ ผลจาก การวิจัยกับประชากรกลุ่มเป้าหมายได้ค่าประสิทธิภาพเท่ากับ 85.92/85.42 และค่าดัชนีประสิทธิผล (E.I.) เท่ากับ .50 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานการวิจัยในครั้งนี้
3. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนมีค่าคะแนนเฉลี่ยหลังเรียนเท่ากับ 43.60 สูงกว่า ก่อนเรียนซึ่งมีค่าเท่ากับ 21.60 จากคะแนนเต็ม 50 คะแนน
4. นักเรียนที่เรียนโดยใช้หนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด คุณธรรมพื้นฐาน สรรสร้างเด็กดี ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดประมุง (แจ่มราษฎร์รังสรรค์)มีความพึงพอใจต่อการเรียนภาษาไทยอยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยระดับความพึงพอใจเท่ากับ 4.53 คิดเป็นร้อยละ 90.67
สรุปได้ว่า ผลการวิจัยครั้งนี้เป็นไปตามสมมติฐานของการวิจัยที่ตั้งไว้ทั้ง 4 ข้อ