ชื่อเรื่อง การพัฒนาการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบ 4 MAT ประกอบการใช้เอกสารประกอบการสอน เรื่อง การดำรงชีวิตของพืช ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้านบ่อวิน
(ลิขิตราษฎร์บำรุง) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 3
ผู้ศึกษา นางสาวนิศารัตน์ ฤทธิ์แสนตอ
หน่วยงาน โรงเรียนบ้านบ่อวิน (ลิขิตราษฎร์บำรุง)
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 1
ปีที่พิมพ์ 2561
บทคัดย่อ
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์บางเนื้อหายังไม่บรรลุผลเท่าที่ควร ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากครูผู้สอนยังใช้นวัตกรรมที่เป็นสื่อประกอบการสอนและกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบเดิม ครูเป็นผู้อธิบายเนื้อหาจากหนังสือที่มีความจำกัดทางด้านเนื้อหาให้นักเรียนฟังและการวางแผน การเตรียมการจัดการเรียนรู้ยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร ส่งผลให้นักเรียนไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบ 4 MAT ประกอบการใช้เอกสารประกอบการสอน เรื่อง การดำรงชีวิตของพืช เป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ส่งเสริมให้นักเรียนได้รับการพัฒนาตามศักยภาพของแต่ละบุคคล นักเรียนมีการบูรณาการประสบการณ์เดิม มีการสร้างความคิดรวบยอด และลงมือปฏิบัติกิจกรรมตามความสนใจ และแลกเปลี่ยนความรู้ที่ได้รับกับผู้อื่น และเป็นการพัฒนาสมองซีกซ้ายและซีกขวาอย่างเป็นระบบและสมดุล ดังนั้นการศึกษาครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ (1) เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบ 4 MAT ประกอบการใช้เอกสารประกอบการสอน เรื่อง การดำรงชีวิตของพืช ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 (2) เพื่อหาดัชนีประสิทธิผลของการพัฒนา การจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบ 4 MAT ประกอบการใช้เอกสารประกอบการสอน เรื่อง การดำรงชีวิตของพืช ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 (3) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เรื่อง การดำรงชีวิตของพืช ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้การเรียนรู้แบบ 4 MAT ประกอบการใช้เอกสารประกอบการสอน และ (4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่มีต่อการพัฒนาการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบ 4 MAT ประกอบการใช้เอกสารประกอบการสอน เรื่อง การดำรงชีวิตของพืช กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4/2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนบ้านบ่อวิน (ลิขิตราษฎร์บำรุง) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษาชลบุรี เขต 3 จำนวน 37 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา มี 4 ชนิด ได้แก่ (1) เอกสารประกอบการสอน เรื่อง การดำรงชีวิตของพืช จำนวน 4 เล่ม (2) แผนการจัดการเรียนรู้แบบ 4 MAT จำนวน 16 แผน แผนละ 1 ชั่วโมง (3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง การดำรงชีวิตของพืช ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ มีค่าความยาก (P) ระหว่าง 0.31-0.74 มีค่าอำนาจจำแนก (B) ตั้งแต่ 0.30 - 0.68 ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.87 (4) แบบวัดความพึงพอใจในการเรียนรู้ของนักเรียน ชนิดมาตราส่วนประมาณค่า 3 ระดับ จำนวน 15 ข้อ มีอำนาจจำแนกรายข้อ (rxy) ตั้งแต่ 0.32 - 0.79 ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.86 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติที่ใช้ในการทดสอบสมมติฐาน ได้แก่ t-test แบบ Dependent Sample
ผลการศึกษาพบว่า
1. การพัฒนาการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบ 4 MAT ประกอบการใช้เอกสารประกอบการสอน เรื่อง การดำรงชีวิตของพืช ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 89.44/88.65 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้
2. ดัชนีประสิทธิผลของการพัฒนาการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบ 4 MAT ประกอบการใช้เอกสารประกอบการสอน เรื่อง การดำรงชีวิตของพืช ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีค่าเท่ากับ 0.8142 ซึ่งหมายถึงว่าหลังเรียนนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 81.42
3. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบ 4 MAT ประกอบการใช้เอกสารประกอบการสอน เรื่อง การดำรงชีวิตของพืช มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่ได้รับการพัฒนาการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
แบบ 4 MAT ประกอบการใช้เอกสารประกอบการสอน เรื่อง การดำรงชีวิตของพืช มีความพึงพอใจในการเรียนรู้โดยรวมและรายด้าน อยู่ในระดับมาก
โดยสรุป การพัฒนาการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบ 4 MAT ประกอบการใช้เอกสาร
ประกอบการสอน เรื่อง การดำรงชีวิตของพืช ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ส่งผลให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเพิ่มขึ้น มีความพึงพอใจในการเรียนรู้ที่ดี สามารถพัฒนาความสามารถทางวิทยาศาสตร์และทักษะการคิดอย่างเป็นระบบ มีโอกาสพัฒนาสมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวาอย่างสมดุล เกิดการเรียนรู้อย่างสนุกสนานและมีประสิทธิภาพ จึงควรส่งเสริมสนับสนุนให้ครูนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนเนื้อหาอื่นในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์