ชื่อผลงาน การพัฒนาและหาประสิทธิภาพชุดการสอนวิทยาศาสตร์แบบ 5E
เรื่อง สารและการจำแนกประเภทของสาร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2560
ชื่อผู้ทำผลงาน นางสาววรางคณา เปรมปรีดิ์
ครูชำนาญการ โรงเรียนเขาย้อยวิทยา อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 10
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ในการศึกษาครั้งนี้ เพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพชุดการสอนวิทยาศาสตร์แบบ 5E เรื่อง สารและการจำแนกประเภทของสาร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง สารและการจำแนกประเภทของสาร ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเขาย้อยวิทยา ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 2 ห้องเรียน 69 คน ที่ได้จากการสุ่มอย่างง่าย (Sample Random Sampling) โดยวิธีการจับสลากห้องเรียน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทดลอง คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/1 จำนวน 35 คน และกลุ่มควบคุม คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/2 จำนวน 34 คน
การศึกษาครั้งนี้เป็นแบบเชิงทดลอง (Experimental Research) เป็นรูปแบบการศึกษาที่มีกลุ่มควบคุมแบบสุ่มและการทดสอบหลังการทดลองอย่างเดียว (Posttest Only Control Groups Design) เนื่องจากนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ทุกคนผ่านการทดสอบความรู้และความสามารถพื้นฐานมาแล้วและนำข้อมูลมาจัดห้องเรียนโดยคละความรู้และความสามารถทุกห้องเรียนจึงไม่ต้องมีการทดสอบก่อนเรียน
เครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนา ได้แก่ 1) ชุดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบ 5E เรื่อง สารและการจำแนกประเภทของสาร 2) ชุดปฏิบัติการ (1) เป็นชุดกิจกรรมการสร้างชิ้นงาน/ภาระงาน 3) ชุดปฏิบัติการ (2) เป็นชุดกิจกรรมการทดลอง 4) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์และวัดความสามารถและทักษะทางวิทยาศาสตร์ ผลการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า 1) การพัฒนาและหาประสิทธิภาพชุดการสอนวิทยาศาสตร์แบบ 5E เรื่อง สารและการจำแนกประเภทของสาร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีประสิทธิภาพ เท่ากับ 85.48/82.19 2) ผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ เรื่อง สารและการจำแนกประเภทของสาร ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่ใช้ชุดการสอนวิทยาศาสตร์แบบ 5E กับกลุ่มตัวอย่าง พบว่านักเรียนกลุ่มทดลอง มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3) ผลการเปรียบเทียบความสามารถและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ พบว่านักเรียนกลุ่มทดลองมีความสามารถและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์สูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05