ชื่อเรื่อง รายงานผลการใช้เอกสารประกอบการเรียนวิทยาศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้
วิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 หน่วย การดำรงชีวิตของพืชและสัตว์
หน่วยงาน โรงเรียนไตรมิตรวิทยา
ปีการศึกษา 2560
ผู้วิจัย นางศิริกัญญา จันทร์คำภา
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาประสิทธิภาพของเอกสารประกอบการเรียนวิทยาศาสตร์
กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 หน่วย การดำรงชีวิตของพืชและสัตว์ ตาม
เกณฑ์ 70/70 เพื่อหาดัชนีประสิทธิผลของเอกสารประกอบการเรียนวิทยาศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และเพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อการเรียนรู้ หน่วย การดำรงชีวิตของพืชและสัตว์ โดยใช้เอกสารประกอบการเรียนที่ผู้วิจัยได้จัดทำขึ้นกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนไตรมิตรวิทยา ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 12 คน ใช้ระยะเวลาในการวิจัย คือ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 20 ชั่วโมง โดยใช้เวลาในการจัดกระบวนการเรียนรู้ระหว่างวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 - 17 มกราคม 2561 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย เครื่องมือประเภทนวัตกรรมที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ เอกสารประกอบการเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบการวิจัย ประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 หน่วย การดำรงชีวิตของพืชและสัตว์ โดยใช้เอกสารประกอบการเรียน จำนวน 20 แผน แบบทดสอบก่อนเรียน-หลังเรียน จำนวน 30 ข้อ ซึ่งค่าอำนาจจำแนกอยู่ระหว่าง 0.36-0.60 และ ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ เท่ากับ 0.95 และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ หน่วย การดำรงชีวิตของพืชและสัตว์ โดยใช้เอกสารประกอบการเรียน และใช้สถิติประกอบการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย พบว่า
1. เอกสารประกอบการเรียนวิทยาศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 หน่วย การดำรงชีวิตของพืชและสัตว์ ซึ่งพิจารณาจากค่าเฉลี่ยระหว่างคะแนนทดสอบระหว่างเรียน กับ คะแนนทดสอบหลังเรียน เล่มที่ 1-10 มีค่าเท่ากับ 89.19 /87.50 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 70/70 ที่ตั้งไว้
2. ค่าดัชนีประสิทธิผลของเอกสารประกอบการเรียนวิทยาศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 หน่วย การดำรงชีวิตของพืชและสัตว์ มีค่าเท่ากับ 0.7554 คิดเป็นร้อยละ 75.54 แสดงให้เห็นว่า นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีความก้าวหน้าทางด้านการเรียนรู้เพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 75.54
3. ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ หน่วย การดำรงชีวิตของพืชและสัตว์ โดยใช้เอกสารประกอบการเรียน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า อยู่ในระดับมากทุกข้อ เรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย 3 ลำดับแรก คือ นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองทุกเวลา นักเรียนสามารถเลือกเรียนในหัวข้อต่าง ๆ ได้ตามต้องการ และ การจัดสีสันในภาพเหมาะสมและดูสบายตา