ชื่อเรื่อง การศึกษาความสามารถด้านการแสดงออกทักษะทางสังคม สำหรับนักเรียนออทิสติก ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดตาก โดยใช้ชุดภาพร่วมกับการแสดงบทบาทสมมติ
ผู้รายงาน นางสาววิจิตรา ยศหลวงฝั้น ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะครูชำนาญการ
ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดตาก ตำบลป่ามะม่วง อำเภอเมือง จังหวัดตาก
ปีที่ทำการรายงาน พุทธศักราช 2560
บทคัดย่อ
ในการศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) เพื่อหาประสิทธิภาพของชุดภาพร่วมกับการแสดงบทบาทสมมติ สำหรับนักเรียนออทิสติกศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดตาก ตามเกณฑ์ประสิทธิภาพมาตรฐานที่กำหนด คือ 75 / 75 2) เพื่อเปรียบเทียบความสามารถด้านการแสดงออกทักษะทางสังคมก่อนและหลังการใช้ชุดภาพร่วมกับการแสดงบทบาทสมมติ สำหรับนักเรียนออทิสติก ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดตาก โดยการใช้แบบการศึกษา one-group Pretest-posttest design โดยใช้กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนออทิสติกระดับเตรียมความพร้อม ที่รับบริการในศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดตาก มีความบกพร่องด้านทักษะทางสังคม ด้านการแสดงออกทางพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเรื่อง การทักทาย การขอโทษ การขอบคุณ และการขออนุญาต กำลังศึกษาในภาคเรียน ที่ 1 ปีการศึกษา 2560 โดยเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จำนวน 6 คน เครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนาประกอบด้วย 1) ชุดภาพร่วมกับการแสดงบทบาทสมมติ พร้อมคู่มือการใช้ชุดภาพร่วมกับการแสดงบทบาทสมมติ จำนวน 4 เล่ม 2) การแสดงบทบาทสมมติ จำนวน 1 เล่ม 3) แบบวัดทักษะทางสังคมก่อนและหลังเรียน จำนวน 20 ข้อ คะแนน 80 คะแนน 4) แผนการสอนเฉพาะบุคคล (Individual Implementation Plan : IIP) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบด้วยสถิติพื้นฐาน ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ สถิติเปรียบเทียบ ใช้สถิติทดสอบของ The Wilcoxon Matched Pairs Signed Ranks Test สถิติหาคุณภาพของเครื่องมือ ได้แก่ IOC และหาค่าประสิทธิภาพของชุดภาพร่วมกับการแสดงบทบาทสมมติ โดยใช้ E1 / E2 และหาค่าดัชนีประสิทธิผล
ผลการวิจัยพบว่า
1. การศึกษาประสิทธิภาพของชุดภาพร่วมกับการแสดงบทบาทสมมติ ตามเกณฑ์ประสิทธิภาพมาตรฐานที่กำหนด คือ 75/75
พบว่าประสิทธิภาพของชุดภาพร่วมกับการแสดงบทบาทสมมติ ตามเกณฑ์ประสิทธิภาพมาตรฐานที่กำหนด E1 / E2 เท่ากับ 75 / 75 โดยรวม 4 เล่ม มีประสิทธิภาพ E1 / E2 เท่ากับ 90 / 85.2 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ และมีค่าดัชนีประสิทธิผล เท่ากับ 3.46 เป็นนวัตกรรมที่ยอมรับได้
2. เปรียบเทียบความสามารถด้านการแสดงออกทางทักษะสังคม สำหรับนักเรียนออทิสติก ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดตาก ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน โดยการใช้ชุดภาพร่วมกับการแสดงบทบาทสมมติ
พบว่า นักเรียนมีความสามารถด้านการแสดงออกทางทักษะสังคม โดยการใช้ชุดภาพร่วมกับการแสดงบทบาทสมมติ มีความแตกต่างกันโดยหลังเรียน มีคะแนนสูงกว่าก่อนเรียน ร้อยละ 8.12