เรื่อง ผลการพัฒนาการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยโดยใช้
แบบฝึกทักษะ ชุด การวิเคราะห์และสังเคราะห์ประโยค สำหรับชั้นมัธยมศึกษา
ปีที่ 3 โรงเรียนกุสุมาลย์วิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 23
ผู้ศึกษา นายนพรัตน์ อำพล
ปีการศึกษา 2559 - 2560
สถานศึกษา โรงเรียนกุสุมาลย์วิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 23
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยโดยใช้แบบฝึกทักษะ ชุด การวิเคราะห์และสังเคราะห์ประโยค สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80 / 80 และเพื่อศึกษาผลจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยโดยใช้แบบฝึกทักษะ ชุด การวิเคราะห์และสังเคราะห์ประโยค สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ดังนี้ 1) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้ 2) ศึกษาดัชนีประสิทธิผลการจัดการเรียนรู้ และ 3) ศึกษาความพึงพอใจในการเรียนรู้
กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนโรงเรียนกุสุมาลย์วิทยาคม จำนวน 36 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (purposive sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย 1) แผนการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยโดยใช้แบบฝึกทักษะ จำนวน 16 แผน และแบบฝึกทักษะ ชุด การวิเคราะห์และสังเคราะห์ประโยค จำนวน 8 เล่ม 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ผู้สอนสร้างขึ้น มีค่าความเชื่อมั่นท่ากับ 0.78 ( KR ) และ 3) แบบวัดความพึงพอใจในการเรียนรู้ที่ผู้สอนสร้างขึ้นมีค่าอำนาจจำแนกระหว่าง 0.5153 ถึง 0.8912 มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.94 ( = coefficient) สถิติที่ใช้ในการศึกษาคือ การหาค่าร้อยละ การหาค่าเฉลี่ย ( ) การทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยโดยใช้สถิติการทดสอบค่าที (t-test dependent sample) และการทดสอบสมมติฐานโดยการหาค่าดัชนีประสิทธิผล ผลการศึกษาพบว่า
1. การจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยโดยใช้แบบฝึกทักษะ ชุด การวิเคราะห์และสังเคราะห์ประโยค สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีค่าประสิทธิภาพเท่ากับ 86.92 / 84.51 ผ่านตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้คือ 80 / 80
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะ ชุด การวิเคราะห์และสังเคราะห์ประโยค สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 สูงกว่าก่อนได้รับการจัด การเรียนรู้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
3. การจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยโดยใช้แบบฝึกทักษะ ชุด การวิเคราะห์และสังเคราะห์ประโยค สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีค่าดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 0.7876
4. นักเรียนมีความพึงพอใจในการเรียนรู้วิชาภาษาไทยโดยใช้แบบฝึกทักษะ ชุด การวิเคราะห์และสังเคราะห์ประโยค สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 อยู่ในระดับมาก
ความสำคัญของปัญหา
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 มีจุดเน้นที่การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในเรื่องของจุดมุ่งหมาย สาระของการสอน กระบวนการสอน การดูแลมาตรฐานวิชาชีพ รูปแบบการบริหารจัดการ การกำกับและการดูแลคุณภาพ ซึ่งเปลี่ยนไปจากแนวปฏิบัติเดิมอย่างมาก กระบวนทัศน์ประการสำคัญ คือเรื่องของการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญมากขึ้น ถือว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถที่จะพัฒนาได้ จะต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ ตามนัยแห่งพระราชบัญญัติการศึกษาที่เน้นผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด ( มาตรา 22 ) ครูต้องสร้างความรู้ด้วยตนเอง รวมทั้งมีความสามารถทางด้านวิจัย ( มาตรา 30 ) รู้จักใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ จัดเนื้อหาสาระ กิจกรรม โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างผู้เรียน ฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ผสมผสานความรู้อย่างสมดุล จัดสภาพผู้เรียนให้ได้เรียนรู้อย่างรอบด้านและประสานความร่วมมือ ครูจะต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทจากการเป็นผู้ชี้นำ ผู้ถ่ายทอดความรู้ ไปเป็นผู้ช่วยเหลือ ส่งเสริมและสนับสนุนผู้เรียนในการแสวงหาความรู้จากสื่อและแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. 2552 : 21)
ในการปฏิรูปการจัดการเรียนรู้ ตามนัยแห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 มุ่งปรับกระบวนการจัดการเรียนรู้ให้เอื้อต่อการพัฒนาขีดความสามารถของผู้เรียนให้เต็มศักยภาพ ตามจุดประสงค์ของแต่ละระดับและประเภทของการศึกษา โดยเน้นความสำคัญทั้งด้านความรู้ ความคิด ความสามารถ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกปฏิบัติ ให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น จัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกสถานที่ ทุกเวลา แก้ปัญหาอย่างเป็นกระบวนการ และเรียนรู้อย่างมีความสุข (กระทรวงศึกษาธิการ. 2551 : 3) เหตุผลดังกล่าว หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 และหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 จึงได้ถูกพัฒนาขึ้น เจตนารมณ์ของหลักสูตรทั้ง 2 ฉบับนั้น ได้กำหนดสาระการเรียนรู้ซึ่งประกอบด้วยองค์ความรู้หรือทักษะกระบวนการเรียนรู้ และคุณลักษณะหรือค่านิยม คุณธรรม จริยธรรมของผู้เรียนเป็น 8 กลุ่มสาระ คือ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ การงานอาชีพและเทคโนโลยี ภาษาต่างประเทศ ให้สอดคล้องกับมาตร 23 ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 คือการจัดการศึกษา ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้บูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษาในเรื่องต่อไปนี้ 1) ความรู้เรื่องเกี่ยวกับตนเอง และความสัมพันธ์ของตนเองกับสังคม ได้แก่ ครอบครัว ชุมชน ชาติ และสังคมโลก รวมถึงความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสังคมไทย และระบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 2) ความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์เรื่องการจัดการการบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลยั่งยืน 3) ความรู้เกี่ยวกับศาสนา ศิลปวัฒนธรรม การกีฬา ภูมิปัญญาไทยและการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญา 4) ความรู้และทักษะคณิตศาสตร์และด้านภาษา เน้นการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง และ 5) ความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข (กระทรวงศึกษาธิการ. 2551 : 5) ดังนั้นสาระการเรียนรู้ภาษาไทยจึงเป็นสาระการเรียนรู้ที่จัดไว้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 โดยเน้นการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง ตามนัยแห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542
ภาษาไทยถือเป็นระบบสัญลักษณ์ที่มีความซับซ้อน ดังนั้นการจัดประสบการณ์ให้เหมาะสมกับวัยและความสนใจของผู้เรียนเพื่อให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและผู้เรียนจะได้ใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ในด้านอื่นๆ ต่อไปจึงเป็นเรื่องสำคัญ กฎเกณฑ์ทางภาษาไทยหรือหลักการใช้ภาษาไทยเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ใช้ภาษาจะต้องเรียนรู้และใช้ได้ถูกต้อง (สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา. 2552 : 8) หลักภาษาไทยจึงถือเป็นหลักเกณฑ์ที่จะช่วยควบคุมคนไทยให้ใช้ภาษาไทยเป็นแบบแผนเดียวกันทั่วประเทศ และการที่ผู้ใช้ภาษาพยายามใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องตามหลักภาษา จะเป็นการช่วยอนุรักษ์ภาษาไทยให้ยืนยงคงเอกลักษณ์ของชาติไทยสืบต่อไป นอกจากนี้การสอนหลักภาษาไทยยังมีความสำคัญและมีประโยชน์ช่วยให้นักเรียนเห็นความสำคัญของภาษาไทย และเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีหลักภาษาไทย เพื่อเป็นระเบียบแบบแผนให้คนไทยใช้ภาษาไทยได้ถูกต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งประเทศ ช่วยให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาษาไทยเป็นอย่างดี และสามารถนำความรู้ที่ได้เรียนแล้วไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ถูกต้อง ถือได้ว่าหลักภาษาไทยมีความสำคัญและมีประโยชน์ทั้งต่อตนเองและต่อประเทศชาติ การสอนหลักภาษาไทยจึงควรช่วยให้นักเรียนเห็นความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย มีความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎเกณฑ์ทางภาษาที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับทักษะการใช้ภาษาไทย (สุจริต เพียรชอบ และสายใจ อินทรัมพรรย์. 2538 : 5)
อย่างไรก็ตามถ้อยคำที่เราใช้สื่อสารกันนั้น มักจะประกอบไปด้วยกฎเกณฑ์ทางภาษาซึ่งถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้ผู้เรียนใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง ผู้เรียนควรทบทวนความรู้เรื่องกฎเกณฑ์ทางภาษาไทยอย่างสม่ำเสมอ (สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา. 2552 : 45) ผลการวิจัยเกี่ยวกับการเรียนการสอนภาษาไทยพบว่านักเรียนส่วนใหญ่ไม่ชอบเรียนกฎเกณฑ์ภาษาไทย เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจยากน่าเบื่อหน่าย นักเรียนมักมีทัศนคติไม่ดีต่อวิชาหลักภาษาไทย ทำให้ไม่สนใจเรียนและเกิดผลเสียต่อการเรียน จึงเป็นเหตุให้การใช้ภาษาไทยของนักเรียนผิดพลาดและบกพร่องมากยิ่งขึ้น (สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา. 2552 : 7) ซึ่งสอดคล้องกับรายงานผลการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทยระดับประเทศ ปีการศึกษา 2558 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่าคะแนนเฉลี่ยในภาพรวมปรับปรุงเฉลี่ยร้อยละ 17.93 พอใช้ เฉลี่ยร้อยละ 64.37 และดี เฉลี่ยร้อยละ 17.71 เมื่อวิเคราะห์ตามสาระทั้ง 5 สาระ พบว่า สาระการอ่านเฉลี่ยร้อยละ 53.56 สาระการเขียนเฉลี่ยร้อยละ 56.93 สาระการฟัง การดูและการพูดเฉลี่ยร้อยละ 45.31 สาระหลักการใช้ภาษา เฉลี่ยร้อยละ 39.19 และสาระวรรณคดีและวรรณกรรม เฉลี่ยร้อยละ 46.30 เห็นได้ว่าคะแนนเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ระดับประเทศ ปีการศึกษา 2550 สาระที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือสาระการเขียน ส่วนสาระที่มีคะแนนเฉลี่ยน้อยที่สุด คือสาระหลักการใช้ภาษา (โรงเรียนกุสุมาลย์วิทยาคม. 2559 : 4) สาระหลักภาษาไทยจึงควรได้รับการพัฒนาให้มีผลสัมฤทธิ์สูงขึ้น อนึ่งการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการเรียนหลักภาษาไทยคือ นักเรียนต้องฝึกปฏิบัติเป็นประจำ การฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอจะทำให้นักเรียนเก่งได้ การเรียนภาษาไทยนั้นนอกจากเรียนให้เข้าใจแล้ว ก็จะต้องให้เกิดทักษะด้วยจึงจะเกิดประโยชน์ ดังนั้น การจัดการเรียนรู้โดยการพัฒนาแบบฝึกทักษะเพื่อปรับปรุงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จึงเป็นวิธีการจัดการเรียนรู้วิธีหนึ่งที่เป็นส่วนเพิ่มเติมหรือเสริมให้นักเรียนฝึกปฏิบัติเพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และมีทักษะเพิ่มขึ้น การให้นักเรียนได้ทำแบบฝึกทักษะมาก ๆ ช่วยให้มีพัฒนาการทางด้านเนื้อหาวิชาได้ดีขึ้น (ประไพ พูลภาพ. 2551 : 113)
ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานั้น ผู้สอนจึงสนใจพัฒนาการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยโดยใช้แบบฝึกทักษะ ชุด การวิเคราะห์และสังเคราะห์ประโยค สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3เพื่อพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา พัฒนากระบวนการเรียนรู้ และพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยโรงเรียนกุสุมาลย์วิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 23 ต่อไป
ความมุ่งหมายของการศึกษา
ในการศึกษาครั้งนี้ ผู้สอนมีความมุ่งหมายของการศึกษา ดังนี้
1. เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โดยใช้ แบบฝึกทักษะ ชุด การวิเคราะห์และสังเคราะห์ประโยค สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ให้ได้ประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80 / 80
2. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ก่อนและหลังได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะ ชุด การวิเคราะห์และสังเคราะห์ประโยค สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
3. เพื่อหาดัชนีประสิทธิผลการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โดยใช้ แบบฝึกทักษะ ชุด การวิเคราะห์และสังเคราะห์ประโยค สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
4. เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อการเรียนรู้โดยใช้ แบบฝึกทักษะ ชุด การวิเคราะห์และสังเคราะห์ประโยค
สมมติฐานของการศึกษา
การศึกษาครั้งนี้ ผู้สอนตั้งสมมุติฐานของการศึกษาไว้ดังนี้
1. การจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยโดยใช้แบบฝึกทักษะ ชุด การวิเคราะห์และสังเคราะห์ประโยค สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80 / 80
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะ ชุด การวิเคราะห์และสังเคราะห์ประโยค สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 สูงกว่าก่อนได้รับการจัดการเรียนรู้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
3. ดัชนีประสิทธิผลการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยโดยใช้แบบฝึกทักษะ ชุด การวิเคราะห์และสังเคราะห์ประโยค สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีความก้าวหน้าตั้งแต่ร้อยละ 70
4. นักเรียนมีความพึงพอใจในการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะ ชุด การวิเคราะห์และสังเคราะห์ประโยค สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 อยู่ในระดับมากขึ้นไป
ความสำคัญของการศึกษา
การศึกษาครั้งนี้ได้แผนการจัดการเรียนรู้ตามแนวการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะ ได้พัฒนาการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยโดยใช้แบบฝึกทักษะ ชุด การวิเคราะห์และสังเคราะห์ประโยค สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 ได้รู้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และความพึงพอใจในการเรียนรู้ของนักเรียนโรงเรียนกุสุมาลย์วิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 23 ซึ่งจะเป็นแนวทางแก่ครูและผู้ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน เป็นพื้นฐานให้นักเรียนเรียนวิชาอื่นได้ดี สามารถใช้ภาษาไทยเป็นเครื่องมือในการศึกษาและใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ขอบเขตของการศึกษา
การศึกษาครั้งนี้ ผู้สอนได้กำหนดขอบเขตในการศึกษา ดังนี้
1. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
1.1 ประชากร
ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนกุสุมาลย์วิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 23 ปีการศึกษา 2560 จำนวนนักเรียน 265 คน
1.2 กลุ่มตัวอย่าง
ผู้สอนเลือกกลุ่มตัวอย่างจากประชากรแบบเจาะจงนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/4 ปีการศึกษา 2560 ซึ่งมีนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทั้งกลุ่มอ่อน ปานกลาง และเก่ง จำนวน 36 คน
2. เนื้อหา
เนื้อหาที่ใช้ในการศึกษา คือ สาระหลักการใช้ภาษา ขอบข่ายเนื้อหาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 สาระที่ 4 หลักการใช้ภาษา โดยแบ่งเนื้อหา
ออกเป็นหน่วยย่อยดังนี้
1) ส่วนประกอบของประโยค
2) ประโยคสามัญ
3) ประโยคซ้อน
4) ประโยครวม
5) ประโยคซับซ้อน
6) รูปของประโยค
7) เจตนาของประโยค
8) ประโยคบกพร่อง
3. ระยะเวลา
ระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษา คือ ปีการศึกษา 2559 ถึง ปีการศึกษา 2560
กรอบแนวคิดของการศึกษา
การศึกษาครั้งนี้เป็นการพัฒนาการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและศึกษาความพึงพอใจในการเรียนวิชาภาษาไทย เนื้อหาที่ใช้ในการศึกษา คือ สาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 สาระที่ 4 หลักการใช้ภาษา ซึ่งแบ่งออกเป็น 16 แผนการจัดการเรียนรู้ ผนวกกับแนวคิดการสร้างแบบฝึกทักษะและการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะ รวมทั้งแนวคิดเกี่ยวกับการศึกษาความพึงพอใจในการเรียนรู้ของผู้เรียน เมื่อประสานแนวคิดดังกล่าวจึงได้กรอบแนวคิดในการศึกษา ดังนี้
ตัวแปรต้น
นิยามศัพท์เฉพาะ
1. การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ หมายถึง การจัดทำรายละเอียดในการจัดการเรียนรู้ ไว้ล่วงหน้าโดยการวิเคราะห์ หลักสูตร วิธีการจัดการเรียนรู้ จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะ ชุด การวิเคราะห์และสังเคราะห์ประโยค สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนกุสุมาลย์วิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 23 โดยผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ และผ่านการหาคุณภาพ นำไปใช้ให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้และพัฒนาทักษะอย่างแท้จริง
2. แผนการจัดการเรียนรู้ หมายถึง แผนการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยโดยใช้แบบฝึกทักษะ ชุด การวิเคราะห์และสังเคราะห์ประโยค สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ผู้สอนสร้างขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ สาระที่ 4 หลักการใช้ภาษา
3. แบบฝึกทักษะ หมายถึง เครื่องมือฝึกทักษะในการเรียนวิชาภาษาไทย ชุด การวิเคราะห์และสังเคราะห์ประโยค สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ผู้สอนสร้างขึ้นสำหรับฝึกปฏิบัติระหว่างการจัดการเรียนรู้เพื่อให้นักเรียนเกิดความรู้ ความเข้าใจ โดยมีรายละเอียดสอดคล้องกับเนื้อหาในบทเรียน และใช้เวลาในการฝึกทักษะครั้งละประมาณ 40 นาที
4. ประสิทธิภาพของการจัดการเรียนรู้ หมายถึง การจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยโดยใช้แบบฝึกทักษะ ชุด การวิเคราะห์และสังเคราะห์ประโยค สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80 / 80
4.1 80 ตัวแรก หมายถึง ร้อยละ 80 ของคะแนนด้านกระบวนการ เป็นคะแนนเฉลี่ยที่ได้จากการทดสอบย่อยหลังการทำแบบฝึกทักษะ
4.2 80 ตัวหลัง หมายถึง ร้อยละ 80 ของคะแนนเฉลี่ยจากการทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนของนักเรียนทั้งหมด
5. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หมายถึง ความสามารถในการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งประเมินจากคะแนนที่ได้จากการทำแบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ชุด การวิเคราะห์และสังเคราะห์ประโยค สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ผู้สอนสร้างขึ้น
6. ดัชนีประสิทธิผล หมายถึง ตัวเลขที่แสดงถึงความก้าวหน้าในการเรียนของนักเรียน ที่เรียนวิชาภาษาไทยโดยใช้แบบฝึกทักษะ ชุด การวิเคราะห์และสังเคราะห์ประโยค สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ผู้สอนสร้างขึ้นโดยเปรียบเทียบคะแนนที่เพิ่มขึ้นจากคะแนนทดสอบก่อนเรียนกับคะแนนที่ได้จากการทดสอบหลังเรียน
7. ความพึงพอใจในการเรียนรู้ หมายถึง ความรู้สึกชื่นชอบหรือพอใจของนักเรียนในการเรียนรู้วิชาภาษาไทย โดยใช้แบบฝึกทักษะ ชุด การวิเคราะห์และสังเคราะห์ประโยค สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ผู้สอนสร้างขึ้นซึ่งเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า(rating scale) 5 ระดับ คือ มากที่สุด มาก ปานกลาง น้อย และน้อยที่สุด ตามลำดับ
8. นักเรียน หมายถึง นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนกุสุมาลย์วิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 23 ปีการศึกษา 2560
รายชื่อผู้เชี่ยวชาญ
1. การตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหา การใช้ภาษา และความตรงเชิงโครงสร้างของแผนการจัดการเรียนรู้และแบบฝึกทักษะ
ผู้ศึกษาได้นำแผนการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยโดยใช้แบบฝึกทักษะ และแบบฝึกทักษะ ชุด การวิเคราะห์และสังเคราะห์ประโยค สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่สร้างขึ้นให้ผู้เชี่ยวชาญจำนวน 5 ท่านเพื่อตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหา การใช้ภาษา และความตรงเชิงโครงสร้างของแผนและแบบฝึกทักษะ โดยมีเกณฑ์ในการเลือกผู้เชี่ยวชาญ คือ 1) เป็นศึกษานิเทศก์ และ/หรือเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาหลักสูตรและการสอน 2) เป็นครูผู้มีวิทยฐานะชำนาญการพิเศษด้านการจัดการเรียนรู้วิชาภาษาไทยระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น 3) เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนหรือรองผู้อำนวยการโรงเรียนผู้รับผิดชอบกลุ่มบริหารงานวิชาการ และ 4) เป็นผู้ยินดีให้ความร่วมมือ ดังรายชื่อต่อไปนี้
1. นายสนธยา หลักทอง ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ วิทยฐานะศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสกลนคร เขต 2
2. นางสาวอัมพิกา พรหมพิทักษ์กุล ตำแหน่งครู วิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โรงเรียนกุสุมาลย์วิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 23
3. ดร.นันทนา ลีลาชัย ตำแหน่งครู วิทยฐานะครูเชี่ยวชาญ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โรงเรียนมัธยมศึกษาเทศบาล 3 ยุติธรรมวิทยา สำนักการศึกษาเทศบาลนครสกลนคร กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น
4. ดร.ภิญโญ ทองเหลา ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะรองผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ โรงเรียนส่องดาววิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 23
5. นายตวงทรัพย์ ไชยทองศรี ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะรองผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ โรงเรียนกุสุมาลย์วิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 23
2. การตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหา พิจารณาความสอดคล้องระหว่างคำถามกับพฤติกรรมที่ต้องการวัด
ผู้ศึกษาได้นำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและแบบวัดความพึงพอใจที่สร้างขึ้นให้ผู้เชี่ยวชาญจำนวน 3 ท่านซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเรียนรู้วิชาภาษาไทย และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดผลและประเมินผล เพื่อตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหา พิจารณาความสอดคล้องระหว่างคำถามกับพฤติกรรมที่ต้องการวัด ลักษณะการใช้คำถาม ตัวเลือก ตัวลวง และความถูกต้องด้านภาษาแล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขและตัดข้อสอบที่ไม่เหมาะสมออก คัดเลือกข้อสอบให้เหลือข้อสอบที่สมบูรณ์ ดังรายชื่อต่อไปนี้
1. ดร. ภิญโญ ทองเหลา ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะรองผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ โรงเรียนส่องดาววิทยาคม
2. นางทวีรัตน์ ภวภูตานนท์ ตำแหน่งครู วิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โรงเรียนดงเย็นพิทยาคาร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 20
3. นายสนธยา หลักทอง ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ วิทยฐานะศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสกลนคร เขต 2