ชื่อเรื่อง การพัฒนาชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง อัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี
วิชาเคมี 3 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
ผู้วิจัย นางสาวกษมา ลาดสะอาด
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะครูชำนาญการ
สังกัด โรงเรียนสุรวิทยาคาร จังหวัดสุรินทร์ สำนักเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33
ปีที่พิมพ์ 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนามีวัตถุประสงค์การวิจัย 1) เพื่อพัฒนาชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง อัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี วิชาเคมี 3 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง อัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี วิชาเคมี 3 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสุรวิทยาคารที่เรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมแบบ สืบเสาะหาความรู้ ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน 3) เพื่อหาดัชนีประสิทธิผลจากการใชชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง อัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี วิชาเคมี 3 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้ชุชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง อัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี วิชาเคมี 3 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสุรวิทยาคาร
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้สอนเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนสุรวิทยาคาร จังหวัดสุรินทร์ จำนวน 39 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ใช้เวลาในการทดลอง 18 ชั่วโมง (ไม่รวมเวลา ที่ใช้ในการทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน) เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ วิชาเคมี 3 เรื่อง อัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 9 ชุด แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียนชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 1 ฉบับ 40 ข้อ ซึ่งมีค่าความยากตั้งแต่ 0.32 ถึง 0.64 และค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 0.23 ถึง 0.59 และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.7817 และแบบสอบถามความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรม จำนวน 20 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.848 สถิติที่ใช้ ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติที่ใช้วิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนที่เรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ ใช้ค่า t-test (Dependent Sample)
สรุปผลการวิจัย
1. ผลการพัฒนาและหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ วิชาเคมี 3 เรื่อง อัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่ผู้วิจัยสร้างและพัฒนาขึ้น และนำไปทดลองภาคสนาม พบว่า มีประสิทธิภาพเท่ากับ 84.25/82.56 สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 80/80 ซึ่ง ชุดกิจกรรมแต่ละชุดมีประสิทธิภาพ ดังนี้ ชุดกิจกรรมที่ 1 เรื่อง ความหมายของอัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี มีประสิทธิภาพ 86.09/82.00 ชุดกิจกรรมที่ 2 เรื่อง การคำนวณเกี่ยวกับอัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี มีประสิทธิภาพ86.15/80.00 ชุดกิจกรรมที่ 3 เรื่อง แนวคิดเกี่ยวกับการเกิดปฏิกิริยาเคมี มีประสิทธิภาพ 83.93/81.78 ชุดกิจกรรมที่ 4 เรื่อง พลังงานกับการดำเนินไปของปฏิกิริยาเคมี มีประสิทธิภาพ 82.89/80.67 ชุดกิจกรรมที่ 5 เรื่อง ธรรมชาติของสารตั้งต้นกับอัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี มีประสิทธิภาพ 85.65/82.22 ชุดกิจกรรมที่ 6 เรื่อง พื้นที่ผิวของสารกับอัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี มีประสิทธิภาพ 83.46/81.78 ชุดกิจกรรมที่ 7 เรื่อง ความเข้มข้นของสารกับอัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี มีประสิทธิภาพ 85.37/82.22 ชุดกิจกรรมที่ 8 เรื่อง อุณหภูมิกับอัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี มีประสิทธิภาพ 85.17/80.89 และชุดกิจกรรมที่ 9 เรื่อง ตัวเร่งและตัวหน่วงปฏิกิริยาเคมีกับอัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี มีประสิทธิภาพ 85.09/80.44
2. เพื่อเปรียบเทียบผลการเรียนรู้ เรื่อง อัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี วิชาเคมี3 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสุรวิทยาคารโดยใช้ชุดกิจกรรมก่อนและหลังเรียนในด้านความรู้ พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติที่ระดับ .01 และคะแนนทดสอบหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ทุกชุด
3. ผลการศึกษาดัชนีประสิทธิผลของชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ วิชาเคมี 3 เรื่อง อัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีค่าเท่ากับ 0.7181 แสดงว่านักเรียนมีความก้าวหน้าทางการเรียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 71.81 แสดงให้เห็นถึงนักเรียนมีผลการเรียนรู้ เรื่อง อัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี ที่สูงขึ้นจริง
4. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง อัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.37
โดยสรุป ชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ วิชาเคมี3 เรื่อง อัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี ของชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีประสิทธิภาพ มีประโยชน์ต่อกิจกรรมการเรียนรู้ นักเรียนสามารถเรียน ได้ด้วยตนเองและมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาเคมีสูงขึ้น